9 เช็กลิสต์ที่ควรทำ หากตัดสินใจลาออก โดยไม่มีงานใหม่รองรับ

ลาออก
Photo: Boe

การตัดสินใจลาออกจากงานต้องอาศัยการไตร่ตรองและการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่า ตัดสินใจได้ถูกต้อง ซึ่งการเตรียมตัวลาออกให้พร้อมสามารถให้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งความรู้สึกของนายจ้าง แผนด้านการเงิน และความก้าวในอาชีพการงานใหม่ต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” นำลิตส์ที่สำคัญที่สุดที่ผู้อ่านควรพิจารณาก่อนการลาออก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา ดังนี้

1. ประเมินการตัดสินใจ

ศึกษาแนวโน้มตลาดแรงงาน เพราะการละทิ้งตำแหน่งงานถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวโน้มตลาดไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าจะหงุดหงิดกับตำแหน่งปัจจุบัน แต่การลาออกในขณะที่อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจตกต่ำอาจไม่ใช่ทางออกที่ฉลาด

ดังนั้น หากยังไม่ได้ยื่นใบลาออกต่อนายจ้าง ให้ประเมินอย่างรอบคอบก่อนว่าการลาออกเป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่ หรืออาจมีทางเลือกอื่น เช่น โยกย้ายภายใน สายงาน แผนก หรือสาขา การเจรจาขอค่าตอบแทนที่สูงขึ้น หรือการจัดตารางงานใหม่ การประเมินทางเลือกของคุณอาจช่วยให้มีความมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองมีความสำคัญสูงสุดเสมอ แทนที่จะปล่อยให้อาการของแย่ลงจากแรงกดดันจากตำแหน่งงาน การลาออกจากงานอาจเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ในทางกลับกัน การลาออกโดยไม่มีหน้าที่ใหม่อาจทำให้รู้สึกหดหู่และโดดเดี่ยว เพราะต้องเผชิญกับการหางานที่ไม่แน่นอน ดังนั้นควรไตร่ตรองให้ดีก่อนตัดสินใจในท้ายที่สุด

2. วางแผนการออกอย่างสง่างาม

ควรออกจากงานด้วยสถานการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าคุณจะไม่อยากกลับมาที่บริษัทเดิมอีกต่อไป แต่การเผาสะพานก็ไม่ได้ให้ผลเชิงบวกใด ๆ ดังนั้น หากตัดสินใจว่าจะลาออกควรเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเองจนกว่าจะได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นแจ้งจึงค่อยแจ้งให้เพื่อนในทีมรับรู้ รวมถึงควรเคารพเพื่อนร่วมองค์กร และปฏิบัติงานอย่างเต็มที่จนวันสุดท้าย

3. หยุดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

การลาออกจากงานโดยไม่มีงานใหม่รองรับ อาจต้องใช้เวลานานมากกว่า 1 เดือนถึงจะได้งานใหม่ และต้องรออีก 1 เดือนถึงจะได้เงินเดือน ดังนั้น ต้องสร้างเงินสำรอง ใช้จ่ายตามที่เห็นสมควรเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนในขณะที่กำลังหางาน

4. เช็กกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หลายบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของพนักงาน เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อประโยชน์ให้ลูกจ้างได้มีเงินสำรองในอนาคต

ดังนั้น ถ้าองค์กรของคุณมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ออกจากงานก่อนเกษียณอายุหรือก่อนอายุครบ 55 ปี ควรคำนึงใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ได้เงินเท่าไร เสียภาษีหรือไม่ และสามารถนำเงินไปไว้ไหนได้บ้าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินกองทุนและภาษีได้อย่างคุ้มค่า

5. ใช้สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่ยังมี

เป็นความคิดที่ดีที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ในขณะที่ยังคงอยู่ภายใต้แผนความคุ้มครองของบริษัทเดิม โดยการลาออกในหลายองค์กรมักจะมีระยะเวลาให้พนักงานรอคอย 30 วันก่อนความคุ้มครองจะสิ้นสุดลง

6. เช็กสิทธิประกันสังคม

ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถยื่นขอเงินชดเชยจากประกันสังคมกรณีว่างงานหลังจากลาออกจากงานแล้ว โดยหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ท่านมีสิทธิ คือ เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

7. บันทึกตัวอย่างงาน

องค์กรหลายแห่งบล็อกการเข้าถึงบัญชีอีเมล์และเซิร์ฟเวอร์หลังจากคุณลาออก เพื่อรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบันทึกตัวอย่างงานส่วนตัวหรือตัวอย่างโครงการที่ไม่มีกรรมสิทธิ์จากบริษัทเดิมและไม่ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทเดิมได้ตามความเหมาะสม สิ่งนี้สามารถช่วยสร้างแฟ้มผลงานเพื่อการหางานในอนาคต

8. ล้างข้อมูลส่วนบุคคล

อย่าลืมล้างข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ ในคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป แล็ปทอป และโทรศัพท์มือถือของบริษัท รวมถึงอีเมล์ แชต ประวัติการเข้าชม และลบคุกกี้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลถัดไปที่ใช้อุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงินของคุณโดยไม่ได้ตั้งใจ

9. วางแผนหางานใหม่

อย่าปล่อยเวลาผ่านไปวัน ๆ โดยไม่มองหางานใหม่ เริ่มทำเรซูเม่และส่งไปยังองค์กรที่สนใจ หรือฝากประวัติไว้กับบริษัทจัดหางานที่น่าเชื่อถือ เช่น LinkedIn, JobsDB, JobTH, JOBTOPGUN, WorkVenture, JOBBKK, JobThai, ThaiJobsGov, JobNOW, Fastwork, Careerjet, Idealist, Indeed, Hoteljob, Doe.go.th หรือแม้แต่ไปงาน Job Fair