ปฏิวัติองค์กรยุค AI เปลี่ยนกลยุทธ์เอชอาร์ สู่สุดยอดองค์กรบริหารคนดีเด่น

PMAT

การปฏิวัติองค์กรในยุค AI ต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล PMAT ช่วยองค์กรเสริมแกร่ง เปิดโครงการเฟ้นหา “สุดยอดองค์กรบริหารคนดีเด่น” ปี 2

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PERSONNEL MANAGEMENT ASSOCIATION OF THAILAND : PMAT) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 และมีการบรรยายพิเศษ HR TALK Theme : “Revolutionizing Organizations in the AI Era : Strategic Transformation through HR Leadership”

โดย 5 วิทยากร ได้แก่ ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีออลล์ จํากัด (มหาชน) รวมทั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และประธานคณะกรรมการรางวัล People Management Award of Thailand บรรยายในหัวข้อ Beyond Recognition : The 2024 People Management Awards Debut-Navigating the New Paradigm of People Management,

สุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคม การจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หัวข้อ สาระสําคัญ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล-PMAT New Vision And Rebrand, ศาสตรา มังกรอัศวกุล รองกรรมการผู้จัดการ ทําหน้าที่ผู้บริหารสายงานร่วมดูแล สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) หัวข้อ Empowering the Digital Workforce : HR’s Role in Fostering AI Skills and Literacy,

บุญเกียรติ เมธีทัศนีย์ Group Director Corporate HR บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด Building HR หัวข้อ Tomorrow : Bridging from the Past to Drive Future Success, และอครินทร์ ภูรีสิทธิ์ Chief People Officer บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จํากัด (มหาชน) Creating a Culture of Innovation : HR’s Role in Leading Digital Transformation

ดร.หลุยส์ คริสธานินท์
ดร.หลุยส์ คริสธานินท์

ปีที่ท้าทายเฟ้นหาผู้สืบทอดตำแหน่ง

“ดร.หลุยส์ คริสธานินท์” กล่าวว่า ปี 2567 เป็นปีที่ท้าทายของหลายองค์กรสำหรับการหาผู้สืบทอด (successors) ผู้บริหาร เพราะพนักงานระดับสูงที่เป็นคนเจน Baby Boomer (กลุ่มคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489-2507) กลุ่มสุดจะทำงานอยู่ในองค์กรปีนี้ หากวางแผนจะเกษีณตอนอายุ 60 ปี สอดคล้องกับความท้าทายที่ทาง DDI สำรวจพบในองค์กรส่วนใหญ่คือ 1) การพัฒนาผู้นำรุ่นต่อไป 2) การดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถระดับสูง และ 3) การรักษาและการมีส่วนร่วมของพนักงานของคุณ

“จำนวนประชากรที่เป็นคนเจน X มีจำนวนน้อยกว่ารุ่นเบบี้บูมเมอร์ เพราะฉะนั้นผู้บริหารรุ่นถัด ๆ ไป จะเริ่มมีการผสมผสานของคนรุ่นที่แตกต่าง องค์กรจะต้องเตรียมหาผู้นำรุ่นใหม่และลดช่องว่างของเจเนอเรชั่นให้ได้”

เตรียมรับมือ พ.ร.บ.วิชาชีพเอชอาร์

“สุดคนึง ขัมภรัตน์” กล่าวว่า PMAT มีบทบาทในการสร้างชุมชนด้านเอชอาร์ และผลักดันองค์กรทุกภาคส่วนให้มีความเข้มแข็ง และเล็งเห็นความสำคัญของ พ.ร.บ.วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่าง ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานความรู้ ความสามารถ มาตรฐานการปฏิบัติติงาน และมาตรฐานจรรยาบรรณ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล และควบคุมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน

“วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ในองค์การต่าง ๆ รวมไปถึงความสงบสุขภายในประเทศ ตลอดจนการมีงานทำของประชากร การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีในทุกองค์การ มีส่วนช่วยลดภาระของสังคมและภาครัฐในการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้ทำงานให้มีคุณภาพ”

People Management Award

ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ครั้งนี้ยังมีการประกาศเกี่ยวกับเปิดโครงการรางวัล People Management Award of Thailand (PMAT) หรือ “สุดยอดองค์กรบริหารคนดีเด่น” ปีที่ 2 โดยเปิดรับสมัครองค์กรร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 จะปิดรับสมัครในช่วงต้นกรกฎาคม 2567 และประกาศผลช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ แต่ละองค์กรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกของ PMAT ถ้ายังไม่เป็นสมาชิกสามารถสมัครได้

ปี 2567 มิติที่พิจารณาการให้รางวัลประกอบด้วย 3Ps คือ

หนึ่ง People “คน” คือส่วนสำคัญที่สุด องค์กรที่สามารถบริหารคนได้ดีเด่น ต้องมีความสามารถในการดึงดูดพนักงาน อาศัยกลยุทธ์ที่สะท้อนแบรนด์ขององค์กร เพิ่มผลลัพธ์ของงาน ความผูกพัน และประสบการณที่ดีในการทำงาน ทำให้พนักงานเลือกที่จะอยู่กับองค์กรนั้น ๆ และเติบโตไปพร้อมกัน

สอง Performance (Profit) “ศักยภาพของคนเพื่อผลลัพธ์ขององค์กร” คือส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะยกระดับคุณภาพขององค์กร และสร้างผลกำไรที่ดีให้กับธุรกิจ ดังนั้น การดึงศักยภาพของคนออกมาขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีศักยภาพ และไก้ใจคน

สาม Planet (Sustainability) “ความยั่งยืน” เป็นหนึ่งแนวทางที่แต่ละองค์กรต้องนำมาประยุกต์ในการบริหารธุรกิจ เพราะการเติบโตด้านผลกำไรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นตัวยืนยันว่า องค์กรจะเติบโตได้ในระยะยาว ดังนั้น การทำธุรกิจต้องมีความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล

ส่วนระดับของรางวัล แบ่งออกเป็น Diamond, Platinum และ Gold นอกจากนั้น จะมีการมอบรางวัลพิเศษ Special Award ซึ่งจะแตกต่างตามแนวโน้มของแต่ละปี โดยปีนี้มี 1 รางวัล คือ Well-being Award : Wellness & Mindfulness ที่ได้รับความร่วมมือจาก Human Capital Management Club (HCM) ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (Thai Listed Companies Association : TLCA) และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่รางวัล Special Recognition จะมอบให้องค์กรที่โดดเด่นในแต่ละมิติของงาน HR