5 ผู้นำบนเวที SX2022 เปิดทางรอดของธุรกิจสู่ความยั่งยืน

SX2022

Sustainability Expo 2022 (SX2022) เป็นมหกรรมเอ็กซ์โปเกี่ยวกับความยั่งยืนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพราะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ, ความรู้, โครงการต่าง ๆ ที่มีแนวคิดน่าสนใจ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรและประชาชนทั่วไปร่วมกันสร้างความยั่งยืน

เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และการบรรยาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 รายทั่วโลก บริษัท และองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศกว่า 100 แห่ง

SX2022

โดยหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือ “Leading Sustainable Business” ซึ่งมีซีอีโอจาก 5 บริษัทชั้นนำมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอแนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นแนวทางกับผู้นำองค์กรอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในการบริหารธุรกิจ

ซีพีตั้งเป้าท็อป 20 ยั่งยืนโลก

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพีกรุ๊ป กล่าวว่า การทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน เครือซีพีจึงได้นำกลุ่มธุรกิจในเครือทั่วโลกร่วมประกาศเป้าหมายความยั่งยืนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และดำเนินงานตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้ในปีที่ผ่านได้รับคัดเลือกติดอันดับผู้นำองค์กรยั่งยืนระดับโลก UNGC ระดับ LEAD

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

“เราตั้งเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าเครือซีพีจะต้องติดในท็อป 20 ด้านความยั่งยืนของโลกให้ได้ โจทย์ใหญ่ของเครือซีพีคือต้องสร้างความตระหนักรู้ให้คนในองค์กรดำเนินธุรกิจเป็นเนื้อเดียวไปกับความยั่งยืน ดังนั้นเครือซีพีจึงเดินหน้าวางเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2573 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายร่วมแก้วิกฤตโลกร้อน ซึ่งเรามีนโยบายให้กลุ่มธุรกิจในเครือทั่วโลกลงมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อนำพาองค์กรสู่ carbon neutral ภายในปี 2573 และการบรรลุเป้าหมาย zero carbon และ zero waste ภายในปี 2593”

เป้าหมายความยั่งยืนจะสำเร็จได้ สิ่งสำคัญ “ผู้นำ” ต้องมีส่วนอย่างมากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และจะต้องปรับตัวภายใต้ความท้าทายที่เป็นวาระสำคัญระดับโลก 5 เรื่องหลัก คือหนึ่ง ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม สอง ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ สาม สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สี่ รับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และห้า ศึกษาผลกระทบของสงครามระหว่างประเทศ

ธีรพงศ์ จันศิริ
ธีรพงศ์ จันศิริ

“TU” มองต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า บริษัทเริ่มทำภารกิจด้านความยั่งยืนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2557 โดยช่วงนั้นภาคธุรกิจด้านอาหารทะเลในไทยต้องพบเจอกับอุปสรรคหลายอย่างพร้อมกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต่ำสุด (Tier 3) ในเรื่องการค้ามนุษย์ หรือได้รับใบเหลืองจากยุโรปเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย นอกจากนั้นคู่ค้ารวมถึงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมก็โจมตีเรื่องการทำประมงที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นจุดที่ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ อย่างจริงจัง

“ไทยยูเนี่ยนมีการดูแลปัญหาตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ดังนั้นเราทำงานใกล้ชิดกับทั้งฝ่ายรัฐบาล คู่ค้าที่ขายวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นเรือประมง เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งในฟาร์ม รวมไปถึงการจัดหาจัดจ้างแรงงานอย่างมีจรรยาบรรณ ไม่เพียงแต่แรงงานภายในองค์กรเท่านั้น”

“แต่รวมถึงการจัดหาจัดจ้างแรงงานโดยตรงจากต่างประเทศด้วย ไทยยูเนี่ยนยังมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่กำหนดให้คู่ค้าทุกรายในระบบต้องปฏิบัติต่อแรงงานทุกคนอย่างถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม มีมาตรการในการจัดซื้อวัตถุดิบที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการตรวจสอบการจัดการเรือประมงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นคู่ค้าของบริษัทด้วย”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

“SCG” โลกร้อนต้องแก้เร่งด่วน

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ความท้าทายในการเปลี่ยนองค์กรให้มีความยั่งยืนมี 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การทำให้ทุกคนในองค์กรมีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจ และมีเป้าหมายร่วมกัน สอง การให้การสร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน และสามารถส่งผลที่ดีด้านกำไรของบริษัทนั้น ๆ ไปพร้อมกัน สาม การพูดและการปฏิบัติต้องเป็นไปในทางเดียวกัน

“การดำเนินการเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะสภาวการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้นจึงควรเริ่มที่คำถามว่า ทำไม

และต้องมุ่งสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำได้จริงและยั่งยืน แม้จะมีพันธกิจร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่สิ่งที่ทุกคนหวั่นใจคือ ไม่ได้ลงมือทำตามที่พูดไว้ เพราะสุดท้ายแล้วแผนการต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ก็จะไร้ประโยชน์”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก การดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนควรตั้งต้นจากลูกค้า ว่าลูกค้ามีความต้องการอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า การใช้งาน หรือการรีไซเคิล เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากลูกค้ามาบวกกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี จะเป็นจุดเริ่มต้นแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้มีกรณีของความสำเร็จที่สามารถนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกันภายในองค์กร และทำให้เกิดการขยายวงกว้างขึ้นได้

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

“ไทยเบฟ” เชื่อพลังเครือข่าย

“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้ทรรศนะว่า ความวุ่นวายของโลกเกิดจากการบริโภคนิยม ที่ทำให้ภาคธุรกิจพยายามตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีพันธกิจทั้งระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับโลก

ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2573 พร้อมทั้งเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ แต่ทุกคนต้องกลับมาถามตัวเองก่อนว่าสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากน้อยแค่ไหน

“ผมอยากให้ตั้งคำถามร่วมกันว่า หลังจากปี 2573 องค์การสหประชาชาติจะใช้หัวข้ออะไรในอีก 15 ปีถัดไป ผมเชื่อว่าการคิดเรื่องความยั่งยืนจะกลับมาที่ปัจเจกบุคคล โดยการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ถ้าสังเกตหลังยุคมิลเลนเนียม (ปี 2000) เกิดความร่วมมือกันของประเภทธุรกิจที่อยู่บนกระดานเดียวกัน (industry collaboration) เพื่อสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและเติบโต แต่หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 จะเป็นยุคของความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม (cross-industry collaboration)

ซึ่งจะเห็นได้จากงาน SX2022 ที่เกิดจากการรวมพลังของเครือข่าย Thailand Supply Chain Network และสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทุกคน ซึ่งถือเป็นพลังร่วมที่สำคัญ และเป็นมิติใหม่ที่จะหาคำตอบว่า ทุกคนจะอยู่กันอย่างไรต่อไป และจะช่วยกันรักษาโลกใบนี้ได้อย่างไร

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง

“GC” ไม่เป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง

“คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น อยู่ที่ความเข้าใจขององค์กรตนเอง

เพราะแต่ละองค์กรมีบริบทที่แตกต่างกัน GC จึงนำแผนการพัฒนาความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภายใต้แนวคิด Chemistry for Better Living ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น และมีสุขอนามัยดีขึ้น

“แต่สำคัญกว่านั้นคือกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งสินค้าก็ต้องดีด้วย นั่นคือการใช้ทรัพยากรน้อยลง ดีต่อโลก บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหลายรูปแบบ นอกจากไบโอพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ หรือรีไซเคิล การใช้นวัตกรรมและการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์มีความคงทนมากขึ้น ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยทำให้มีการใช้น้อยลง สิ่งที่เราทำจะต้องไม่เป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง ดังนั้น GC จึงวางแผนการลงทุนระยะยาว 30 ปีข้างหน้าเพื่อลดคาร์บอนในกระบวนการผลิต”

นับว่า SX 2022 คือการรวมพลังของภาคธุรกิจ เพื่อเปิดกลยุทธ์องค์กรด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความท้าทาย และเส้นทางเพื่อความอยู่รอดของโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน