ผู้นำขานรับสู้วิกฤตโลก ฟื้นฟูระบบนิเวศเดินหน้าสู่ Net Zero

โกลบอลคอมแพ็ก

การประชุมผู้นำความยั่งยืน “GCNT Forum 2022 : Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges” ที่จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) โดยร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations Thailand) มีผู้นำจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมกว่า 100 คน เพื่อเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน และความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

“ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ตามที่สมาชิกได้ประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่ปี 2564 ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยแสดงความมุ่งมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

ขณะนี้สมาชิกของสมาคมร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยผ่านโครงการต่าง ๆ จนทำให้เกิดการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่า 1.6 ล้านคัน

ทั้งนี้ งาน GCNT Forum 2022 จัดขึ้นเพื่อสอดรับกับการที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแสดงความพร้อมของภาคเอกชนที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตาม BCG Model และตามแนวคิด Open. Connect. Balance. (การเปิดกว้าง, สร้างสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกันสู่สมดุล) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย

กล่าวกันว่า ปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งของแนวคิดเหล่านี้มาจากความตระหนักรู้ และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่โลกยังอยู่ในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด และมีความเสี่ยงวิกฤตสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติจะถูกละเลย

โดยภาคธุรกิจต้องร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ เตรียมรับมือกับผลกระทบในเรื่องนี้ให้ทันท่วงที ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติ ความมุ่งมั่น ทุ่มเทกำลังปัญญาและทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์

ตลอดจนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs โดยยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาด และกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิผล พร้อมทั้งจัดทำรายงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงาน

“การดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมการพัฒนา และส่งมอบคุณค่าแก่สังคมจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง หรือ Resilience ขององค์กร และของระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป”

3 ประเด็นรับมือวิกฤตโลก

“กีต้า ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทยกล่าวเน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกว่า ประเด็นแรกคือบทบาทของผู้นำภาคเอกชน โดยเฉพาะสมาชิก GCNT ที่เดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การลงทุนในเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพิ่มการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการลงมือทำอย่างจริงจัง และประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเด็นที่สอง การปลดล็อกการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนจากตลาดการเงินในประเทศ และประเด็นที่สาม ความร่วมมือกับเครือข่ายของสหประชาชาติ ที่พร้อมยืนหยัดสนับสนุนองค์ความรู้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก

อาทิ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในตลาดคาร์บอนและพลังงาน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ดีที่สุด การจัดการของเสีย การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อให้รัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถนำความยั่งยืนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุน

ตลาดหลักทรัพย์ฯสนับสนุน ESG

“ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยเฉพาะโอกาสและความเสี่ยงที่มากับภาวะโลกร้อน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯได้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา และพัฒนาการของธุรกิจในเรื่องนี้มาโดยตลอด

เช่น สร้างการเรียนรู้ผ่าน ESG Academy พัฒนา ESG Data Platform เชื่อมโยงข้อมูลในเรื่องนี้ให้กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ และอยู่ระหว่างพัฒนา ESG Investment Product เพื่อให้ Ecosystem ของการลงทุนอย่างยั่งยืนครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากขึ้น

“ปัจจุบันข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนต้องการใช้ในการพิจารณา และวิเคราะห์ความเหมาะสมในการลงทุน โดยเห็นได้ชัดว่าบริษัทจดทะเบียนตื่นตัวในการแก้ปัญหาและเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น”

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบูรณาการ ESG เข้าไปในกระบวนกาiดำเนินธุรกิจ โดยได้ออกนโยบาย หลักเกณฑ์ และเครื่องมือต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ

“โดยเฉพาะการมีนโยบายและกลยุทธ์ในการจัดการกับปัญหาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น กำหนดหลักเกณฑ์การรายงานข้อมูลประจำปีของบริษัทจดทะเบียน (56-1 One Report) ให้ครอบคลุมด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสิทธิมนุษยชน”

ภาคเอกชนขานรับ BCG

“เรน ฮวา โฮ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วง 2-3 ปีนี้เป็นช่วงเวลาของความท้าทายที่ต้องหาทางออก และตั้งเป้าหมายระยะยาว 10-15 ปี ซึ่งไทยวาเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรที่ต้องการรักษาสมดุลในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“โดยให้ความสำคัญกับการดูแลตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค ทั้งยังดูแลผู้คนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตั้งแต่เกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ส่งมอบวัตถุดิบหลัก บุคลากรที่ต้องพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง และชุมชนโดยรอบที่ต้องดึงเข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางเดียวกัน

รวมถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพราะตอนนี้เรากำลังอยู่หลังยุคโรคระบาด สิ่งที่ต้องเผชิญคือความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบคือความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ต้องผลิตอาหารให้มากขึ้น จึงต้องลดการปล่อยคาร์บอนไปพร้อม ๆ กันเพื่อรักษาสมดุลนี้ไว้ให้ได้”

“จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเราเป็นโรงงานรีไซเคิลของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีแนวปฏิบัติภายใต้วิสัยทัศน์ “สิ่งทอยั่งยืน” โดยการนำขยะสิ่งทอ หรือเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิล เพื่อให้เป็นผ้าใหม่ที่สามารถนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า หรือสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ

ทั้งยังนำมาเป็นวัสดุตกแต่งบ้านได้ ที่สำคัญ เรามีการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อนำวัสดุรีไซเคิลหมุนเวียนให้กลับมาเป็นวัสดุใหม่แบบ Closed-Loop Project

“นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลด้านวงจรชีวิตวัฏจักรผลิตภัณฑ์กับลูกค้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรในประเทศแคนาดา โดยใช้ QR Code ในการสื่อสารที่สามารถให้สแกนดูข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน การลดการใช้น้ำ และการประหยัดพลังงาน

วมทั้งยังทำงานร่วมกับชุมชนที่ทำงานหัตถกรรม เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวในท้องถิ่นมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนด้วย เนื่องจากหัตถกรรมของไทยกว่าร้อยละ 50 เป็นสิ่งทอ ตอนนี้มีครัวเรือนส่งเศษผ้ามาให้เรารีไซเคิล ผลิตเป็นสินค้า และมีบริษัทขนาดใหญ่มาสนใจ จากการทำงานที่ผ่านมา ทางเราพิสูจน์แล้วว่าสินค้าที่เกิดจากของรีไซเคิลสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้น และลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม”

“อาเบล เติ้ง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พันธกิจของหัวเว่ยคือนำเทคโนโลยีช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการพัฒนาโซลูชั่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต และการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานโซลาร์เซลล์ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อตอบรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน

“ทั้งนั้นเพราะหัวเว่ยมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ Tech for a Better Planet ตั้งแต่ปี 2019 ด้วยการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายร่วมกันทั่วโลกที่ต้องการพัฒนาโลกสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะร่วมกันรับมือกับความท้าทายด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน

โดยมุ่งเน้นการใช้โซลูชั่นไอซีทีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสีเขียว โดยร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและพันธมิตร เพื่อการปกป้องและผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับโลกของเรา”

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม สมาชิก GCNT ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะมุ่งมั่นบริหารจัดการ กำหนดนโยบาย และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีระบบในการประเมินและติดตามตรวจสอบคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ด้วยการสนับสนุนกลไกทางการเงิน การบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ ภายในปี ค.ศ. 2030