มองเรื่องปล้นให้เป็น HR

แบงก์พัน
คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

จากข่าวดังที่สองพี่น้องร่วมกันปล้นชิงเงินบริษัท 3.4 ล้านบาทที่เบิกมาเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน โดยพยายามทำให้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องสามีภรรยาทะเลาะกัน ผมเลยสรุปเรื่องที่ HR ได้เรียนรู้จากเคสนี้มาบอกกล่าวกันครับ

1.ควรจ่ายเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคาร : บริษัทไหนที่ยังจ่ายเงินเดือนพนักงานด้วยการให้พนักงานไปเบิกเงินสดที่ธนาคาร แล้วนำมาจ่ายให้กับพนักงาน ควรเปลี่ยนวิธีการใหม่ คือควรโอนเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารให้พนักงาน นอกจากจะตัดปัญหาเรื่องเกลือเป็นหนอนแล้ว ยังจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับพนักงานที่ทำหน้าที่ไปเบิกเงินจะถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกฆ่าชิงทรัพย์ได้อีกด้วย

2.ค้นหาและบริหารความเสี่ยง : ควรมีการหาข้อมูลพนักงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของบริษัท ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ว่ามีพนักงานมีหนี้สินมากเกินตัวหรือไม่ เช่น กรณีนี้พนักงานคนนี้เป็นพนักงานการเงินมีเงินเดือน เดือนละ 3 หมื่นบาท ผ่อนรถกระบะเดือนละ 17,000 บาท ผ่อนบิ๊กไบก์เพราะความชอบส่วนตัว (ข่าวไม่ได้บอกว่าเดือนละเท่าไหร่ แต่ก็ต้องหลายพัน หรืออาจจะหลักหมื่นบาทต่อเดือน) ส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละ 10,000 บาท ตอนนี้รถกระบะก็ขาดส่งและกำลังจะโดนไฟแนนซ์ยึด แถมยังไปเล่นบิตคอยน์จนขาดทุนอีก

กรณีทุจริตทำนองนี้ จากที่ผมพบมามักจะเป็นพนักงานที่ติดการพนัน เป็นหนี้สินรุงรังก็มีครับ ถ้าหัวหน้าของพนักงานคนนี้มีการพูดจาสารทุกข์สุกดิบ มีการสื่อสารที่ดีกับลูกน้องในทีมงานอยู่เป็นประจำแล้ว จะได้คิดหาวิธีลดความเสี่ยงทำนองนี้ลงได้ ว่าควรจะให้รับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ของบริษัทอยู่ต่อไปดีหรือไม่

3.ทุจริตเงินน้อยหรือทุจริตเงินมาก คือฐานความผิดเท่ากัน ถือเป็นความผิดร้ายแรง : การทุจริตต่อหน้าที่ถือเป็นฐานความผิดร้ายแรงตาม ม.119 ของกฎหมายแรงงานที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

จากที่เคยเป็นกรรมการสอบสวนการทุจริต ผมจะมีจุดยืนที่ชัดเจนเสมอ คือเลิกจ้าง แม้ว่าบางครั้งหัวหน้าของพนักงานทุจริตจะบอกในที่ประชุมคณะกรรมการวินัยว่าขอให้นำความดีของลูกน้องที่ทุจริตมาลดหย่อนโทษ และลูกน้องก็ทุจริตเงินแค่หลักหมื่นบาทเอง ควรให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขโดยการออกหนังสือตักเตือนก็พอ

Advertisment

ผมจะยืนยันกับที่ประชุมชัดเจนทุกครั้ง ว่าการทุจริตไม่ว่าจะ 3 หมื่นหรือ 3 ล้านบาทก็มีฐานความผิดเท่ากัน ไม่ใช่ว่าทุจริต 3 หมื่นจะมีโทษน้อยกว่าทุจริต 3 ล้านซะเมื่อไหร่

ถ้าบริษัทไม่มีบทลงโทษกรณีทุจริตที่ชัดเจน แถมเอาวงเงินที่ทุจริตมาเป็นข้อต่อรองอย่างนี้แล้ว ต่อไปจะเกิด Me too ตามมาแน่นอน เหมือนสนิมที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ลุกลามไปเป็นเรื่องใหญ่ต่อไปแหละครับ

Advertisment

สำหรับข้อนี้บางท่านอาจไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผมก็ไม่ว่ากันนะครับ ผมแค่แชร์ประสบการณ์และการตัดสินใจในเรื่องนี้ของผมเท่านั้น ใครจะเห็นเป็นอย่างอื่นก็แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคน

นี่แหละครับ Lesson Learn สำหรับกรณีศึกษานี้