กระทรวงแรงงานชวนนักเรียนขาดทุนทรัพย์ สมัครร่วมโครงการ 3 ม. “มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม” ปี 2566 ตั้งเป้ารับ 2,000 คน สร้างโอกาสเรียนต่อระดับที่สูงขึ้นระหว่างทำงาน
วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในรูปแบบประชารัฐ ผ่านโครงการ 3 ม. มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม เชิญชวนนักเรียนและนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ร่วมโครงการ เพื่อโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ควบคู่กับการทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้างรายเดือนและสวัสดิการอื่น ๆ จากสถานประกอบการระหว่างเรียน
เมื่อเรียนจบยังมีโอกาสได้ปรับอัตราค่าจ้าง หรือเลื่อนตำแหน่งงาน ซึ่งถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพและผลิตภาพด้านแรงงาน ให้เป็นแรงงานสมรรถนะสูง โดยปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และสถานศึกษาอื่นที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับสถานประกอบการโดยตรงเข้าร่วมโครงการ
ด้านสถานประกอบการมีการ MOU ร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนชั้นนำ ที่มีความมั่นคง มีความพร้อมในการจ้างงานและให้สวัสดิการที่ดีทั้งสิ้น 13 บริษัท อาทิ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เมอร์เซเดสเบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เฟดเดอรัล อิเลคตริค จำกัด, บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด, บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เป็นต้น
“ผมสนับสนุนและเล็งเห็นความสำคัญของโครงการ 3 ม. มาโดยตลอด เพราะนอกจากช่วยให้นักเรียน นักศึกษาได้บรรจุงานมีรายได้ประจำในระหว่างกำลังศึกษาแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ได้แรงงานคุณภาพ มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการนายจ้าง แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในส่วนสถานศึกษาสามารถกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่สุดเกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการที่เข้มแข็งต่อไป” นายสุชาติกล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 โครงการ 3 ม. มีเป้าหมายรับสมัครผู้สนใจร่วมโครงการ จำนวน 2,000 คน โดยขับเคลื่อนโครงการผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด 40 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ใน 15 จังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน 18 จังหวัด อาทิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ภาคกลาง ใน 2 จังหวัดคือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ภาคตะวันออก ใน 3 จังหวัดคือ จังหวัดชลบุรี นครนายก สระแก้ว และภาคตะวันตก ใน 2 จังหวัดคือ กาญจนบุรี ราชบุรี
“สำนักงานจัดหางานจังหวัดจะลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในสถานศึกษาต่าง ๆ ผ่านครูแนะแนว หรืออาสาสมัครแรงงาน จากนั้นประสานให้สถานประกอบการเข้าไปชี้แจงรายละเอียดข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะการทำงาน สภาพการจ้าง สวัสดิการต่าง ๆ ตลอดจนวันเวลาในการเข้าเรียน และดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก สัมภาษณ์ สุดท้ายสำนักงานจัดหางานจังหวัดจะประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องทำงานนอกพื้นที่”
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
นางสาววัลภา หารวย กล่าวว่า ตนเข้าร่วมโครงการหลังจบ ม. 6 โดยมาเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ สาขาการตลาด และทำงานกับบริษัทไมเนอร์ไปด้วย โครงการ 3 ม. เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของตนที่จะทำให้มีการศึกษาสูงขึ้น โดยไม่ต้องกู้เงินเรียน มีหอพักให้ ค่าเทอมให้ ได้เงินเดือน มีสวัสดิการจากที่ทำงาน
“เหตุผลที่ร่วมโครงการเพราะตนอยู่กับปู่กับย่า เค้าไม่มีเงินส่งเสียเรียนต่อ ต้องส่งตัวเองเรียน แต่ก็ไม่มีช่องทางไหนแล้ว อย่างน้อยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ได้เงินเดือน อยากฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนที่จะเข้าร่วมโครงการว่า ทุกคนอาจจะมีความฝัน แต่ด้วยฐานะอาจจะยังไม่ใช่โอกาสของเรา เราอาจต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับเรา ณ ตอนนี้ และสามารถทำได้จริงก่อน”
ปัจจุบันนางสาววัลภาอายุ 25 ปี เรียนจบแล้ว ได้โปรโมตเลื่อนตำแหน่งทันที ทำงานตำแหน่ง Restaurant Manager ที่ร้าน The Pizza Company จบมาก็ไม่เป็นหนี้ เป็นการเรียนจบปริญญาตรีที่ไม่ติดลบ มีรายได้เดือนละเกือบ 3 หมื่นบาท หากเดือนไหนทำเป้าได้จะได้ค่า incentive รวมเงินเดือนเกือบ 4 หมื่นบาท