“บูติคนิวซิตี้” นำ ESG แปรรูปผ้าส่วนเกินเป็นแฟชั่นยั่งยืน

ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์-ประวรา เอครพานิช-ผศ.ดร.ธนกร ราชพิลา
ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์-ประวรา เอครพานิช-ผศ.ดร.ธนกร ราชพิลา

กระแส “fast fashion” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งหมายถึงสินค้าแฟชั่นที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ทั้งยังออกแบบให้ทันกระแส เน้นขายง่ายในราคาต่ำ ทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้ากว่า 1,000 ล้านชิ้นต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกมีประชากรเพียง 8,000 ล้านคน

หมายความว่าแต่ละปีจะมีการผลิตเสื้อผ้าเกินความจำเป็น และสิ่งที่น่ากลัวกว่าฟาสต์แฟชั่นคือ “cheap fashion” เพราะแม้จะใช้วัตถุดิบต้นทางที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรเหมือนกัน แต่ถ้าตัดเย็บไม่ดี ทำไม่สวย เสื้อผ้าชิ้นนั้นอาจไม่ถูกนำมาใช้งาน และถูกทิ้ง จนกลายเป็นขยะในที่สุด

เอ-เมส มัลติสโตร์ โดย บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเริ่มโครงการ A’MAZE Green Society ขึ้นโดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง ลฤก, เดอะแพคเกจจิ้ง, มอร์ลูป เพื่อช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้า ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)

ประวรา เอครพานิช
ประวรา เอครพานิช

นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน,kใช้ดำเนินธุรกิจ

“ประวรา เอครพานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บูติคนิวซิตี้ในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มมากว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับ ESG (environment, social, governance) จนนำมาเป็นวิสัยทัศน์องค์กร จากแฟชั่นที่เคยถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิต อาทิ การฟอก การย้อมสี รวมทั้งการตัดเย็บและเหลือผ้าส่วนเกิน

“ปัจจุบันแฟชั่นไม่จำเป็นต้องเป็นขยะอีกต่อไป โดยเรานำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรประเภทวัสดุบริสุทธิ์ หรือ virgin material จนค้นพบแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิต หรืออาศัยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดผ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการตัดเย็บ

โดยเริ่มต้นจากกระบวนการสร้างแพตเทิร์นที่จะถูกคำนวณมาอย่างดี เพื่อให้สามารถใช้ผ้าอย่างคุ้มค่า และเหลือผ้าส่วนเกินให้น้อยที่สุด พร้อมเรียนรู้และหาแนวทางในการนำผ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ในปี 2565 บูติคนิวซิตี้ใช้ผ้าในการตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งสิ้น 78,450.66 กิโลกรัม หรือราว 78.45 ตัน โดยผ้า 80% ถูกนำไปตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย และจะมีผ้าส่วนเกินคิดเป็น 20% ของผ้าที่ใช้ทั้งหมด หรือ 15,690.13 กิโลกรัม หรือประมาณ 15.69 ตัน

เราจึงริเริ่มโครงการ A’MAZE Green Society (เอ-เมส กรีน โซไซตี้) ขึ้นโดยร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “ลฤก” แบรนด์พวงหรีดเสื่อในการนำผ้าส่วนเกิน 15% มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ผ้าเป็นการอัพไซเคิลให้ผ้าส่วนเกินกลับมามีมูลค่า

ดอกไม้ผ้าจะถูกนำไปใช้ประดับตกแต่งพวงหรีดเสื่อให้เกิดความสวยงาม เกิดเป็นโครงการภายใต้ชื่อ “ระลึกรักษ์” อีกทั้งยังร่วมกับเดอะแพคเกจจิ้ง ส่งผ้าส่วนเกินประมาณ 5% ประเภทโพลีเอสเตอร์ไปทดลองในห้องวิจัย

และพบว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิล จะกลายเป็นเม็ดพลาสติก จนนำมาทอเป็นแผ่น และนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋ารักษ์โลกชื่อ Mimi ซึ่งมีความสวยงาม แข็งแรง ทนทาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยจำหน่ายไปแล้วกว่า 100,000 ใบ

“ประวรา” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เราผนึกกับพันธมิตรคู่คิดเพิ่มอีก 2 รายคือ moreloop (มอร์ลูป) ที่ร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นพิเศษ ภายใต้ชื่อ Mimi X moreloop เสื้อผ้าแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำผ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ของมอร์ลูปมาออกแบบ และเพิ่มลูกเล่นด้วยแคแร็กเตอร์ตัวการ์ตูน Mimi ลงบนเนื้อผ้า ทำให้ได้เสื้อผ้าแนวสตรีตที่มีความโดดเด่น

ทำฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์

พร้อมทำฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ติดลงบนผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าคอลเล็กชั่นนี้ด้วย เพื่อแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าวัฏจักรของเสื้อผ้าตัวนั้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งลูกค้าจะได้มีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ด้วย

“นอกจากนั้น ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพราะเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการย้อมคราม ด้วยการทำโครงการ Organic Indigo โดยนำเสื้อผ้าขาวที่ส่งกลับจากร้านค้าในแต่ละสาขา อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากการลองชุด

อาทิ คราบแป้ง เปื้อนลิปสติก ไปผ่านกระบวนการซักทำความสะอาด ออกแบบและทำสีขึ้นมาใหม่ด้วยการมัดย้อมด้วยครามธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อคืนชีวิตให้เสื้อผ้าสีขาวกลับมามีความสดใส สามารถนำกลับมาสวมใส่ได้อีกครั้ง โดยการย้อมครามเป็นวิธีการย้อมผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำที่ใช้ในการย้อมครามมีวิธีการบำบัดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้”

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการ A’MAZE Green Society ทำให้ในปีที่ผ่านมา ผ้าส่วนเกินของเราไม่เป็นขยะอีกต่อไป ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,521 กิโลกรัมคาร์บอน ทั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ในการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ซึ่งโครงการ A’MAZE Green Society จะเป็นโครงการสำคัญในการเดินหน้าผลักดันในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การเลือกหาวัตถุดิบ ตลอดจนขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรทุกอย่างจะถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า รวมถึงสามารถนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง

ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์
ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์

“ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์” ผู้ร่วมก่อตั้ง มอร์ลูป (moreloop) กล่าวว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยมีผ้าส่วนเกิน หรือ dead stock กว่า 350 ล้านตัน หรือสามารถนำมาผลิตเสื้อได้ประมาณ 700 ล้านตัว เป็นของเสีย (waste) ที่ซ่อนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งยังไม่รวมกับต่างประเทศ

ดังนั้น มอร์ลูปจึงตั้งเป้าหมายในการนำผ้าส่วนเกินหรือ dead stock มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่าน 2 ธุรกิจโมเดลหลักคือ แพลตฟอร์มจำหน่ายผ้าส่วนเกินจากระบบอุตสาหกรรม และผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกิน

“สำหรับแพลตฟอร์มที่เราก่อตั้งขึ้น จะเป็นคนกลางที่รวบรวมเอาข้อมูล (database) ของผ้าเหลือ หรือผ้า dead stock หรือที่เราเรียกอีกชื่อว่าผ้าเหงามาขึ้นตลาดออนไลน์ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ ไอเดียคือถ้าสามารถหมุนเวียนทรัพยากรเหล่านี้กลับมาอยู่ในระบบได้ จะกลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปัจจุบันเรารวบรวมฐานข้อมูลของผ้าจากโรงงานทั่วประเทศไทยกว่า 70 โรงงาน มีผ้าบนระบบมากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งก็ยังไม่ถึง 1% ของของเสียที่มีในประเทศเราด้วยซ้ำ”

“ธมลวรรณ” กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีแบรนด์แฟชั่นและผู้ประกอบการเสื้อผ้าหันมาใช้ผ้า dead stock เยอะขึ้น ไม่ว่าจะผ่านมอร์ลูป หรือแม้กระทั่งใช้ผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดของตัวเอง ซึ่งการที่ผู้ประกอบการหันมาเลือกใช้ของเหลือเหล่านี้ โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป จะช่วยให้ทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น

ที่ผ่านมามอร์ลูปผลิตเสื้อให้กับลูกค้าองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ ๆ ทั้งบริษัทมหาชน เอกชน ธนาคาร และ startup โดยบริษัทจะนำเสนอชนิดของผ้าที่ใช้ได้และเหมาะกับคอลเล็กชั่นที่ลูกค้าต้องการ ส่วนดีไซเนอร์จะเลือกสีที่ใช้ได้ และลูกค้าชอบ จนออกมาเป็นคอลเล็กชั่นต่าง ๆ ที่สำคัญต้องไม่สร้างของเสียขึ้นมาเพิ่ม เช่นเดียวกับคอลเล็กชั่นที่ร่วมกับเอเมซครั้งนี้ เป็นคอลเล็กชั่นสตรีตที่เหมาะกับวัยรุ่น

ผศ.ดร.ธนกร ราชพิลา
ผศ.ดร.ธนกร ราชพิลา

“ผศ.ดร.ธนกร ราชพิลา” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครกล่าวเสริมว่า จังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นครามและต้นฝ้ายจำนวนมาก โดยชาวบ้านจะนำปุยฝ้ายมาทำเป็นเส้นใยมัดหมี่เพื่อสร้างลวดลาย

จากนั้นจึงนำไปย้อมครามทอเป็นผืนผ้า และนำมาตัดเย็บเพื่อสวมใส่กันเอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจึงจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคราม” ขึ้น

“วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมฐานข้อมูล การวิจัย และพัฒนา บริการวิชาการเกี่ยวกับการย้อมคราม เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก พัฒนาพันธุ์คราม พัฒนาลวดลาย กระบวนการย้อม การทอ รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบผ้าย้อมครามสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อต้องการสืบสานภูมิปัญญาการย้อมครามไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน”

สำหรับความร่วมมือกับเอเมซในการนำเสื้อผ้าสีขาวที่ค้างอยู่สต๊อก ซึ่งยังไม่ผ่านการใช้งาน เนื่องจากเกิดร่องรอย และคราบต่าง ๆ บนตัวเสื้อ ทำให้ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ มาผ่านกระบวนการมัดย้อมด้วยครามธรรมชาติจากฝีมือชาวบ้านชุมชนบ้านธาตุนาเวง

ทำให้ได้เสื้อย้อมครามที่มีลวดลายสวยงาม แปลกตา ไม่ซ้ำใครนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนย้อมครามบ้านธาตุนาเวงให้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

นับว่าน่าสนใจทีเดียว