ยูนิโคล่ ชูเป้าหมายระยะกลาง สร้างความยั่งยืนในสังคมไทย

โยชิทาเกะ วาคากุวะ
โยชิทาเกะ วาคากุวะ

สถิติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า การผลิตกางเกงยีนส์ 1 ตัว ต้องใช้น้ำ 3,781 ลิตร ซึ่งเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบเท่าประมาณ 33.4 กิโลกรัม ขณะที่ทั่วโลกมีเส้นใยใช้ผลิตเสื้อผ้าจำนวน 87% ถูกเผาหรือกำจัดในหลุมฝังกลบ และอุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนถึง 10% ต่อปี มากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศ และการขนส่งทางทะเลทั้งหมดรวมกัน ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมแฟชั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ทั่วโลก ภายในปี 2030

ด้วยปัญหาและความท้าทายดังกล่าว ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิบัติด้านความยั่งยืน ทั้งยังกำหนดนโยบายการผลิตเสื้อผ้าที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่นำสมัยมาช่วยลดผลกระทบต่อโลกด้วย

โยชิทาเกะ วาคากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยูนิโคล่ทราบดีว่าการผลิตเสื้อผ้าส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ยูนิโคล่จึงปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่โรงงานพันธมิตรจนถึงร้านสาขาของเรา ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมจัดการสารเคมีและสารพิษอย่างเข้มงวด

นอกจากนั้น การจัดหาวัตถุดิบอย่างไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ยูนิโคล่จึงมีความมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตเสื้อผ้าอย่างมีจริยธรรม ตลอดจนการตรวจสอบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่การใช้ทรัพยากรน้ำ

นอกจากนั้น ยูนิโคล่ยังให้ความสำคัญกับผู้คน สังคม และโลก ในฐานะ global citizen ที่ดี ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ผ่านพันธกิจด้านความยั่งยืนของบริษัท ด้วยการ “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า” พร้อมสานต่อแผนปฏิบัติการสำหรับความยั่งยืนภายในปีงบประมาณ 2030 ของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ผ่านแนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) ที่ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม 2 ประการ คือ

หนึ่ง ผลิตเสื้อผ้าที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่นำสมัย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลก

สอง ผลิตเสื้อผ้าที่ดีสำหรับผู้คนและสังคม โดยส่งเสริมการจัดตั้งสภาพแวดล้อมการทำงานที่สามารถปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชนของทุก ๆ คน รวมถึงพนักงานของบริษัท และผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด ตลอดจนดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ทั้งในระดับสากลและระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นร่วมกับลูกค้า

สำหรับยูนิโคล่ (ประเทศไทย) นอกจากการสานต่อตามเป้าหมาย และแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนในปีงบประมาณ 2030 ของฟาสต์ รีเทลลิ่งแล้ว ยังกำหนดเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น ๆ เช่น เป้าหมายด้านความยั่งยืนระยะกลาง ปี 2023-2025 ที่ต้องการมุ่งสู่ “บริษัทร่วมทุนที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย” ตามหลัก Sustainable Development Goals (SDGs) ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA)

โดยเน้นเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย, เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

“ฉะนั้น แคมเปญ RE.UNIQLO จึงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อบรรลุ SDGs ในลำดับที่ 3, 14 และ 15 เพราะบริษัทตั้งใจสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการรวบรวมเสื้อผ้าเก่าของยูนิโคล่จากลูกค้า recycle (ผลิตเป็นสินค้าชิ้นใหม่) และ reuse (ใช้ช้ำ) เพื่อส่งต่อไปให้แก่ผู้ที่ต้องการ ส่วนเสื้อผ้าที่ไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ จะถูกรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิง จะได้ไม่กลายเป็นขยะฝังกลบ”

หนึ่งในความมุ่งมั่นในปี 2566 คือการรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาว เพราะยูนิโคล่ (ประเทศไทย) เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนเสื้อผ้ากันหนาวทางภาคเหนือในช่วงหน้าหนาว เพราะทุกปีประเทศไทยยังมีผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากภัยหนาวอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ และพื้นที่บนดอยห่างไกลความช่วยเหลือ เนื่องจากอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวปลายปีลดต่ำลงมาก และเสื้อผ้าที่มีไม่อบอุ่นเพียงพอ จนบางครั้งหลายครอบครัวต้องก่อไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นด้วยตนเอง

ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จึงตั้งเป้าหมายที่จะรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาวยูนิโคล่ที่ใช้แล้ว หรือไม่เป็นที่ต้องการจากลูกค้า จำนวน 50,000 ชิ้น ภายในเดือนธันวาคม 2023 เพื่อนำไปส่งต่อให้แก่ผู้ยากไร้ผ่านองค์กรพันธมิตร 3 องค์กร คือ มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิบ้านร่มไทร และ UNHCR ที่จะเป็นตัวแทนส่งมอบเสื้อหนาวที่ได้รับการบริจาคจากยูนิโคล่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2023-กุมภาพันธ์ 2024

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2015 ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ได้ส่งต่อเสื้อผ้าที่ได้รวบรวมจากลูกค้าทั่วประเทศมากกว่า 194,273 ชิ้นให้กับองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่น

“โยชิทาเกะ วาคากุวะ” กล่าวด้วยว่า ยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับ climate change (ลดภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก) จึงมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (IREC) ทั้งที่ร้านสาขา และสำนักงานใหญ่ นอกจากนั้น ยังร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ที่สำคัญ ยังมีการวางแผนการผลิต เพื่อผลิตสินค้าทุกชิ้นที่ผู้บริโภคต้องการจริง ๆ เพราะจะทำให้ไม่มีสินค้าเหลือทิ้งในคลังที่ไม่เป็นที่ต้องการ และจะไม่กลายเป็นขยะ ทั้งมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้าที่ผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กำลังเตรียมเปิดตัว RE.UNIQLO STUDIO เป็นครั้งแรกในไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Repair-Remake-Reuse-Recycle

“การนำเสื้อผ้ากลับมาซ่อมแซม และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อต่ออายุการใช้งาน และนำไอเท็มโปรดกลับมาใช้หมุนเวียนอีกครั้ง โดย RE.UNIQLO STUDIO จะเปิดให้บริการที่ร้านยูนิโคล่เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นสาขาแรกในประเทศไทย โดยนำเทคนิคการตัดเย็บด้วยมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า Sashiko มาให้บริการด้วยเช่นกัน”

นับว่ายูนิโคล่ ประเทศไทย ตอกย้ำจุดยืนด้านความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย จากเป้าหมายด้านความยั่งยืนระยะกลาง ตั้งแต่ปี 2023-2025 ที่มีความคิดริเริ่มสู่แคมเปญที่ลงมือทำจริง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย