เปิดนโยบายแรงงาน ขึ้นค่าแรงปี 66-ผู้ประกันตนกู้เงิน 5 หมื่นบาทใช้หนี้นอกระบบ

กระทรวงแรงงานแถลงนโยบาย

กระทรวงแรงงาน ผลักดัน 3 ด้าน 8 นโยบาย ขึ้นค่าแรง 400 บาท เล็งให้ผู้ประกันตนกู้เงิน 5 หมื่นบาทใช้หนี้นอกระบบ ชูแนวคิค “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

วันที่ 15 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงแรงงาน โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในวันที่ 14 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงแรงงาน มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับนโยบายและงานหลักสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการแรกคือ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านแรงงาน ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงไว้ต่อสภาเมื่อวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา จะต้องนำนโยบายตรงส่วนนี้ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ

ผลักดัน 3 ด้าน 8 นโยบาย

นายพิพัฒน์มีนโยบายสำคัญ 3 ด้าน 8 นโยบาย ที่จะต้องเร่งผลักดันดำเนินการในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ได้แก่

ด้านทักษะดี ประกอบด้วย

  1. พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง เพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถการปฏิบัติงาน
  2. เร่ง Up-skill ทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการมีงานทำ รองรับเศรษฐกิจใหม่ (Up-skill for More Earn)

“ได้มอบหมายให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือผนึกกำลังกับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ศึกษาธิการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแรงงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการ” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้านมีงานทำ ประกอบด้วย

3.ใช้ระบบ one stop service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบจบที่จุดเดียว

4.เพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ให้สำเร็จภายในปี 2567 เพื่อชดเชยการเสียดุลการค้าในฝั่งรายจ่ายที่ไทยที่ต้องจ่ายให้กับการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้มีกว่า 4 ล้านคน

“ขณะที่การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจะเน้นจัดทำทะเบียนควบคุมและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้ผู้บริหารผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้านหลักประกันทางสังคมเด่น

5.ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (Micro Finance)

6.กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน

7.ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ (Best E-Service)

8.รวมไปถึงการสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน

“ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ต้องเน้นการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความยั่งยืน ผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการด้านการรักษาพยาบาลครบทุกด้านและดีขึ้นกว่าเดิม โดยนำระบบ e-Claim เข้ามาใช้” นายพิพัฒน์กล่าว

ให้แรงงานกู้เงิน 5 หมื่น ใช้หนี้นอกระบบ

นายพิพัฒน์มีความตั้งใจในการทำโครงการต่าง ๆ ดังนี้

  • ป้องกัน ปราบปรามเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ป้องการการคอร์รัปชั่น
  • ผนึกกำลังความร่วมมือใน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทย
  • ยกฐานะกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ
  • ช่วยแก้ปัญหาผู้ใช้แรงงานกู้เงินนอกระบบ โดยจะดูความเป็นไปได้ในการทำโครงการ ให้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนสามารถกู้เงินจากประกันสังคมคนละ 50,000 บาท เพื่อไปใช้หนี้นอกระบบ และให้นายจ้างหักเงินเดือนแต่ละเดือนส่งคืนประกันสังคม ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายว่าเป็นไปได้หรือไม่ ถ้ากฎหมายเปิดช่องก็จะทำทันที
  • สร้างผลประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่ม โดยจะหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการประกันสังคม และนักวิชาการ ว่าควรลงทุนในสินทรัพย์อะไรที่จะสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น ตอนนี้กองทุนประกันสังคมมีกว่า 2.4 ล้านล้าน และดอก-ผลที่ได้จากปี 2565 มี 7 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าขยับดอกผลไปเป็นแสนล้านบาท

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อมีการทวงถามถึงนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน นายพิพัฒน์ตอบว่า อันที่จริงไม่ได้มีกำหนดในนโยบายที่ประกาศออกมาล่าสุด แต่มาจากการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย โดยจะคิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพของแรงงาน และเงินเฟ้อ ตั้งเป้าในปี 2570

“ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องใช้ค่าแรง 400 บาท เป็นตัวตั้งต้นในปี 2567 ซึ่งจะต้องหารือกับทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ว่าจะสามารถเริ่มได้เมื่อไหร่ สำหรับค่าจ้าง 600 บาท ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่ครบ 4 ปี อาจเป็นไปได้ที่ถึงเป้าหมาย”

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า แต่ที่แน่ ๆ กระทรวงแรงงานมีมติปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 54 สาขาอาชีพ เพื่อให้เลยกับดัก 400 บาทต่อวัน โดยจะมีผลภายใน 90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจาฯ

“ผมอยากให้การขึ้นค่าจ้างเป็นในลักษณะอิงมาตรฐานฝีมือ มีการขึ้นตามทักษะที่พัฒนา เพื่อให้ค่าจ้างอัตราที่ขึ้นนี้อยู่กับคนไทย ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ”

“ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานในระดับล่าง การพัฒนาทักษะฝีมือนอกจากแรงงานไทยแล้ว กระทรวงแรงงานจะเข้าไปพัฒนาในส่วนของแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งเรามีแนวคิดให้งานทำแก่ผู้ลี้ภัย ให้เขามีรายได้ตามหลักสิทธิมนุษยธรรมด้วย” นายพิพัฒน์กล่าวตอนท้าย