ทศวรรษแห่งการลงมือทำ รัฐบาลไทยชู SDGs ขับเคลื่อนโลก

หากอ่านความทั้งหมดอย่างละเอียด จากการที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDGs) Summit 2023) ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

จะเห็นว่า รัฐบาลไทยแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนต่อการประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

แต่กระนั้น หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่าถ้อยแถลงดังกล่าวครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ

หนึ่ง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023

สอง การดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition) เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พร้อมขับเคลื่อนการเงินสีเขียว (Green Finance) ในการสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

สาม การระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Financing for Development-FfD)

นอกจากนั้น คงเป็นอีกหนึ่งประเด็นรองที่ “เศรษฐา” ให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการร่วมมือ ลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อมุ่งสู่ภูมิภาคของการผลิตที่ยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพเชิงลึก “ประชาชาติธุรกิจ” จึงนำสาระสำคัญที่ “เศรษฐา” กล่าวถ้อยแถลงใน 3 ประเด็นหลัก และ 1 ประเด็นรองมานำเสนอ เพื่อให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้นำระดับประเทศ จากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ตามที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action)

ชู SDGs ขับเคลื่อนประเทศไทย

เบื้องต้น “เศรษฐา” กล่าวว่า ประเทศไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

“ผ่านการกระตุ้นกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030”

ถึงตรงนี้ “เศรษฐา” กล่าวต่อว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

หนึ่ง ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึง และช่วยเหลือกลุ่มรั้งท้ายก่อน รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

สอง ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ

สาม ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสม และมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ. 2030

สภาพภูมิอากาศวาระเร่งด่วน

สำหรับประเด็นการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition) เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 “เศรษฐา” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกถือเป็นปัญหาเร่งด่วน และร้ายแรงในปัจจุบัน ช่วงเวลาผ่านมามีโอกาสพบปะเกษตรกรของประเทศไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที

“ไทยจึงนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี ค.ศ. 2025 ที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด โดยเราเพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนจากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้”

ในส่วนของรัฐบาลจะใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ทั้งยังดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ

เดินหน้าสู่พลังงานสะอาด

นอกจากนั้น รัฐบาลยังกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) พร้อมสนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037

พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันสามารถระดมเงินได้จำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่าง ๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDGs

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดจัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน”

ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน

ส่วนประเด็นการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Financing for Development-FfD) “เศรษฐา” เชื่อมั่นว่า ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนา พร้อมเสนอให้ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเงินทุนเพื่อการพัฒนา ที่ต้องครอบคลุม 3 ประเด็นสำคัญ คือ

หนึ่ง รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ และ UNESCAP จะร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “Sustainable Finance : Bridging the Gap in Asia and the Pacific” ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคอย่างครอบคลุม และทั่วถึง

นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการขยายธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Banks : MDBs) เพื่อส่งเสริมเงินทุนสำหรับใช้ก่อสร้างโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเป็นกลไกในการรับมือกับวิกฤตสภาพคล่องทางการเงินในภูมิภาคได้ดีขึ้น

สอง การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการทำธุรกรรม และการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)

สาม การปกป้องสภาพภูมิอากาศ การพัฒนา และการลดความยากจนต้องดำเนินการไปด้วยกัน โดยประเทศไทยออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bonds) และส่งเสริมความร่วมมือตราสารที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เพื่อนำมาพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืนในหลายโครงการ และในปี 2567 จะมีการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เพื่อกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Market) รวมถึงมีการพัฒนากรอบ Thailand Taxonomy เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการลงทุน และการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

จับมืออาเซียนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับประเด็นรองที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียน “เศรษฐา” กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นสำคัญในระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แต่กระนั้น แนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องสอดคล้องกับบริบทของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 ดังนี้ด้วย

หนึ่ง ทุกฝ่ายควรมุ่งมั่นเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับความพยายามร่วมกันของประชาคมโลก เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยอาเซียนต้องมี roadmap เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนแบบองค์รวม และไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไทยยินดีร่วมมือกับอาเซียนขับเคลื่อนการจัดทำ ASEAN Green Agenda เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน

สอง อาเซียนควรสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สาม อาเซียนในฐานะภูมิภาคที่มีพลวัตของการเจริญเติบโตสูง จึงมีศักยภาพที่จะสามารถเป็นแหล่งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่อโลกผ่านการดึงดูดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว โดยตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 32% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า