3 โมเดลผู้ประกอบการ SE ปั้นธุรกิจตอบโจทย์สังคมยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยริเริ่มโครงการ SET Social Impact GYM 2023 มาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ตั้งแต่ปี 2559 นับเป็นโครงการที่บ่มเพาะและสร้างพื้นที่ให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise-SE สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดอย่างแข็งแรง พร้อมเพิ่มความสามารถในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมอย่างยั่งยืน โดยมีบริษัทจดทะเบียนเป็นโค้ชอาสา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) พร้อมพันธมิตร อาทิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ PwC ประเทศไทย

ปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 8 ราย ครอบคลุมการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม 4 ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม 2 ราย, ผู้เปราะบาง 3 ราย, การพัฒนาชุมชน 2 ราย และด้านการเกษตร 1 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซ ฟรี, บริษัท ทีเอชซี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แทนไบโอเคมิคอล จำกัด, บริษัท เลิร์นดู จำกัด, บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัด, สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาเเห่งประเทศไทย, บริษัท ลอว์เอ็กซ์เทค จำกัด และบริษัท ลีกัล คอนเน็กท์ จำกัด

ในจำนวน 8 รายนี้ นอกจากจะอบรมบ่มเพาะเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน หากยังนำเสนอแผนธุรกิจแก่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานรัฐและเอกชนอีกด้วย

จนที่สุดโครงการจึงเลือก 3 ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้โดดเด่น ได้แก่ 1.บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม จำกัด องค์กรที่ลดโอกาสและเหตุปัจจัยในการทำผิดซ้ำของพี่น้อง ผู้ก้าวพลาด 2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซ ฟรี ที่มีเป้าหมายลดมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ชุมชนมีอาหารที่ปลอดภัย และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร

และ 3.บริษัท ทีเอชซี (ประเทศไทย) จำกัด องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทย ด้วยการนำข้าวไปเเปรรูปเป็นสินค้าสำหรับการบริโภค ภายใต้ชื่อแบรนด์ YoRice Amazake

ในส่วนของ “ตั้งต้นดี” นั้น “ธนะชัย สุนทรเวช” ผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม สำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ “เพิ่มพร มณีสินธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งต้นดี เพื่อสังคม กล่าวว่า ตั้งต้นดีทำงานกับผู้ก้าวพลาดที่เป็นผู้พ้นโทษ ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่าจะพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ได้ ในประเทศไทยมีผู้พ้นโทษราว 2 แสนคนต่อปี ภายใน 3 ปีมีการกระทำผิดซ้ำ 35% หรือประมาณ 7 หมื่นคน ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้เสียหายกว่า 7 หมื่นคดีเช่นเดียวกัน

ซึ่งงานวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) เผยว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องสูญเสียมูลค่าจำนวนมาก ตั้งแต่การจับกุม จนถึงพิพากษาและจนถึงราชทัณฑ์ รัฐสูญเสียงบประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อปี โดยมีค่าใช้จ่าย
ในกระบวนการทางอาญาอยู่ที่ประมาณ 36,000 บาทต่อคน และที่สร้างความเสียหายมากกว่านั้นคือ ด้านเศรษฐกิจ มีทั้งค่าเสียโอกาส เราเสียคนจากการทำงาน สู่การกระทำความผิดอย่างน้อยประมาณ 7.3 พันล้านบาทต่อปี อ้างอิงตามค่าแรงขั้นต่ำ

“เรามองว่าผู้กระทำผิดซ้ำไม่ใช่คนไม่ดี เพียงแต่เขาขาดโอกาส และสถานการณ์บีบคั้น บางคนเขาตั้งใจจะทำดี อยากทำงาน แต่มีประวัติติดตัว บางแห่งอาจยังไม่ยอมรับ และตัวเขาเองอาจจะขาดความรู้ เพราะอยู่ในเรือนจำนาน ตามสถานการณ์โลก และเทคโนโลยีไม่ทัน เราจึงก่อตั้งโรงเรียนตั้งต้นดีขึ้นมา เพื่อให้เขาพัฒนาตนเอง ด้านอาชีพ เมื่อเรียนจบจะส่งต่อให้เขาทำอาชีพ และทำธุรกิจไปด้วยกัน เช่น ธุรกิจศูนย์อาหารและการจัดเลี้ยง ด้วยแนวคิดว่า ตั้งต้นดี มีงานทำ ไม่กระทำผิดซ้ำ”

“การทำงานของเราคือเดินไปหาผู้พ้นโทษถึงเรือนจำ เพื่อรับสมัครให้เขามาเรียน และทำงานกับเรา ทั้งเรียนเรื่องอาหาร การบริการ และการพัฒนาจิตใจ เพราะเป้าหมายของตั้งต้นดี คืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ผู้ก้าวพลาดมีงาน มีรายได้ ส่งต่อถึงครอบครัว จนไปถึงสังคม จนสุดท้ายสังคมมีสถิติการกระทำผิดน้อยลง สังคมปลอดภัยมากขึ้น”

ขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซ ฟรี ที่มี “ปองทิพย์ เที่ยงบูรณธรรม” Carbon Finance Specialist และ “ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน” วิศวกรสิ่งแวดล้อม อาจารย์เกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือจึงจัดทำโครงการวิจัย “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” โดยมีการทำโครงการย่อยคือการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน และการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร เพื่อลดการเกิดหมอกควัน

จากงานวิจัยพบว่าการทำเกษตรมีพื้นที่เผาไหม้ 3-9 ล้านไร่ เกิดผู้ป่วยจากฝุ่นควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ปีละ 0.3 ล้านคน นักท่องเที่ยวลดลง 6 ล้านคนต่อปี ขาดรายได้ปีละ 10,000 ล้านบาท อีกทั้งโครงการ CSR “ปลูกป่า ไม่ได้ป่า”

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรโดยไม่พึ่งพาการเผา โครงการวิจัยนี้จึงนำร่องในพื้นที่จังหวัดน่าน และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการนำกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) มาเป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาไฟ ด้วยการใช้พีจีเอสเป็นการรับประกันคุณภาพผลผลิตอินทรีย์

“เรามีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นระบบเกษตรยั่งยืนสามารถสร้างรายได้ในระยะสั้น และระยะยาวแก่เกษตรกรทั่วภาคเหนือ รวมถึงการป้องกันการเกิด และลุกลามไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ให้ได้ 10,000 ไร่ ภายใน ปี 2570”

ด้าน บริษัท ทีเอชซี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต YoRice Amazake ที่มี “ภราดล พรอำนวย” เป็นผู้บริหาร กล่าวว่า ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวและการส่งออกที่ดี แต่ทำไมเกษตรกรไทยยังมีรายได้น้อย และในไทยเรากินข้าวอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่เรามีข้าวหลากหลายสายพันธุ์มาก ดังนั้นจากที่ตั้งคำถามอยู่ จึงลุกขึ้นมาช่วยเหลือชาวนา ด้วยการรับข้าวที่มีลักษณะแตกหัก ไม่สวยงาม มาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่สุดจึงจัดทำแบรนด์ YoRice Amazake ขึ้นมา

โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสาเกญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า “อามาซาเก” แปลตรงตัวได้ว่า “สาเกหวาน” จากข้าวไทยพื้นบ้าน ผสมผสานกับ KOJI สายพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ผ่านกระบวนการหมักที่พิถีพิถันจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีสีขาวขุ่น รสชาติหอมหวาน และเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมดื่มกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

“เครื่องดื่มภายใต้ YoRice Amazake เป็นแบรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นสาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ ทุกขวดที่เราผลิตเป็นการทำงานร่วมกับพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ เพราะช่วยส่งเสริมข้าวสายพันธุ์ไทยชนิดต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญ เรายังมีการวางแผนพัฒนาการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องหลังของเราจะทำงานร่วมกับเกษตรกร ในทุกกระบวนการเติบโต”

จนสัมฤทธิผลดังที่ทุกคนทราบกัน