CSV ซีพีแรม ภารกิจปล่อยปูม้าคืนสู่ทะเลไทย

นับเป็นเวลากว่า 12 ปีที่ซีพีแรมดำเนินโครงการ “ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) และส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ตามแนวทาง FOOD 3S ของซีพีแรม ได้แก่ Food Safety, Food Security and Food Sustainability ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ในฐานะเป็นผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานหลายรูปแบบทั้งอาหารแช่เย็น และแช่เข็ง รวมถึงเบเกอรี่อบสด

สำหรับโครงการ “ปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” เกิดจากการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคราชการ และชาวประมงพื้นบ้านร่วมกันปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าระยะ Young Crab คืนสู่ท้องทะเลไทยในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ซึ่งปัจจุบันสามารถปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าสะสมแล้วกว่า 1.4 ล้านตัว

ล่าสุดปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าลงสู่ทะเลต่อเนื่อง ณ บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 (สุราษฎร์ธานี), บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า ธนาคารปู และชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมร่วมเก็บขยะบนพื้นที่เกาะเสร็จ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทางท้องทะเลที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู

“วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า การปล่อยพันธุ์ปูม้าลงสู่ทะเลเป็นการอนุรักษ์เพาะพันธุ์ปูม้าให้อยู่คู่กับทะเลไทย ทั้งยังสร้างความสมบูรณ์ทางทะเล ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพของชาวประมงให้คงอยู่ต่อไปด้วย เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นแหล่งที่เรารับซื้อปูมากที่สุด โดยมีวิริยะเครป ผู้ผลิต และส่งออกอาหารทะเลแปรรูป เป็นผู้รับซื้อปูม้าจากประมง และส่งต่อมาที่ซีพีแรม

อีกทั้งยังเล็งเห็นว่าสุราษฎร์ธานี มีศูนย์เพาะเลี้ยงพันธุ์ปู มีชาวบ้านจัดทำธนาคารปูม้า และยังมีเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของซีพีแรมที่อยากให้เกิดความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ในการสร้างความสมบูรณ์ทางทะเล โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณปูม้าในทะเล

“ซีพีแรมสนับสนุนศูนย์เพาะเลี้ยงปู ซึ่งมีทีมนักวิจัยทำงานเพื่อหาจุดอ่อน จุดแข็งในการอนุรักษ์พันธุ์ปูให้เกิดความยั่งยืน โดยการสนับสนุนทั้งเงินทุน เพราะเขาต้องใช้อาหาร ใช้เครื่องปั่นไฟ ออกซิเจนต่าง ๆ รวมถึงศึกษาการปล่อยปูลงสู่ทะเล ซึ่งเราเลือกระยะ Young Crab ปล่อยลงสู่ทะเล

เพราะถือเป็นระยะปลอดภัย ด้วยขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ที่มีอัตรารอดประมาณ 80-95% เพราะถ้าหากปล่อยระยะที่เหมือนลูกอ๊อดจะกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่น ๆ ได้ง่าย ฉะนั้นเรามองว่าระยะนี้เป็นระยะที่เอาตัวรอดได้มากกว่า เพราะมีขา มีตา กระดองครบถ้วน สามารถว่ายน้ำได้ ซุกตัวได้ หนีได้”

“วิเศษ” กล่าวต่อว่า โครงการปล่อยปูถือเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม CSV (Creating Shared Value) หรือการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กร และสังคม โดยใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กรในการสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือสังคม และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจด้วย

ซึ่งเราคาดว่าจะดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายพื้นที่ดำเนินการต่อไป ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะลงพื้นที่ใดบ้าง โดยเฉพาะทะเลอ่าวไทย เพราะเป็นทะเลปิด เมื่อปล่อยปูลงไปแล้ว ปูจะยังวนอยู่ในอ่าวไทย

ขณะเดียวกันต้องดูบริบทอื่น ๆ บางพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ ว่าเหมาะสมหรือไม่ เราคงไม่ได้ทำทุกชายฝั่งทะเลประเทศไทย แต่คาดหวังอยากให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น จนกลายเป็นพลังร่วมมือกันที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากเราเป็นธุรกิจที่ผลิตอาหาร ไม่ได้มองแค่เรื่องของปูม้า แต่ยังมองเรื่องของการสร้างความมั่นคงด้านอาหารอื่น ๆ ด้วย เพราะอยากจะยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศทั้งห่วงโซ่อุปทานให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

เพราะถ้าดู 1 ใน 5 อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมอาหาร ฉะนั้นเราจึงร่วมทำหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตคนรุ่นใหม่มาช่วยต่อยอดอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาทำหลักสูตรกับคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร (SMAFT) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ซีพีแรม ดำเนินธุรกิจมากว่า 37 ปีแล้ว มีความแข็งแกร่งในหลาย ๆ ด้าน เช่น องค์ความรู้ทางด้านการจัดการที่ซีพีแรมได้รับรางวัล The Deming Prize 2023 จากสมาคมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นรางวัลระดับโลกที่นานาชาติให้การยอมรับว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้มีความโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพทั่วทั้งองค์กร

ซึ่งบริษัทเราเป็น 1 ใน 3 องค์กร ที่เข้ารับรางวัลดังกล่าว และถือเป็นผู้ผลิตเบเกอรี่รายแรกของไทยและของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ จากเดิมที่มักเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, พลาสติก, เคมีภัณฑ์, ไวน์ และอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าเรามีการบริหารจัดการที่ดี ที่สามารถเผยแพร่สู่กลุ่มธุรกิจอาหารอื่น ๆ ได้ เพราะอยากให้ทุกแห่งยกระดับไปพร้อมกัน

เพราะบางธุรกิจก็เป็นวัตถุดิบของเรา ไม่ว่าจะเป็นซีอิ๊ว น้ำตาล ก็อยู่ในซัพพลายเชนเราทั้งสิ้น

“วิเศษ” กล่าวอีกว่า การสร้างคนสู่อุตสาหกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร จะมีการเรียนการสอนในรูปแบบของ work base learning เรียนเพื่อให้ทำงานจริง ซึ่งเปิดสอนในระดับปริญญาตรี เมื่อปี 2566 มีนักศึกษาเข้าเรียนทั้งหมด 40 คน ต่อยอดจากที่ผ่านมาซีพีแรมริเริ่มโครงการ โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์-ซีพีแรม ขึ้นในปี 2551

โดยร่วมมือจากวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ สร้างหลักสูตรระดับ ปวช. รูปแบบทวิภาคี เรียนรู้ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติ ใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาธุรกิจอาหาร และสาขาเมคคาทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ต้องการโอกาสทางการศึกษา ต่อในระดับที่สูงขึ้น และมีรายได้ระหว่างเรียน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุตรหลานพนักงาน คนในชุมชน

“เราจึงต่อยอดสู่ระดับป.ตรี เนื่องจากเด็กที่จบจากคณะวิทย์ที่นี่ ส่วนหนึ่งมีโอกาสทำงานกับซีพีแรม อีกส่วนจะมีโอกาสไปต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารในองค์กร หน่วยงานอื่น ๆ และต่อไปยังเล็งว่าจะเปิดหลักสูตรในลักษณะโมดูล (Module) เพื่อให้คนเข้ามาเรียนเก็บความรู้ ไม่เน้นปริญญา แต่เน้นการนำไปปฏิบัติจริง ทุกวันนี้คนกระหายความรู้เยอะมาก แม้แต่พนักงานของซีพีแรม

หลายคนเอาเวลาว่างไปเรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ ซึ่งผมมองว่าคือเรื่องที่ดี ที่เราควรจะส่งเสริม ดังนั้นการเรียนแบบโมดูลเป็นระบบการเรียนที่ยืดหยุ่น เรียนแล้วนำไปใช้งานได้จริง คาดว่าจะเริ่มได้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้”