แสนสิริ ผนึก กรีนพาร์ตเนอร์ ระดมสมอง ‘คิดใหม่’ เพื่อความยั่งยืน

“แสนสิริ” ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย จับมือกรีนพาร์ตเนอร์ หรือพันธมิตรความยั่งยืนแถวหน้าของเมืองไทยกว่า 30 องค์กร ร่วมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างจริงจังเพื่อมุ่งสู่ Net Zero และสานต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ในงาน Sansiri Sustainability Forum

ภายใต้หัวข้อ “Rethinking Sustainability ทำอย่างไร ? เมื่อผลกำไรไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียว” เพื่อร่วมสนับสนุนการทำงานในอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อยอดการทำงานในมุมมองใหม่ และขับเคลื่อนธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยมีหัวข้อต่าง ๆ อาทิ “Ways towards Sustainability” โดย “อุทัย อุทัยแสงสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) “เมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องปรับอย่างไร” โดย “ดร.เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ร่วมกับ 4 Green Partners

สำหรับช่วง Special Talk ภายใต้หัวข้อ “ความยั่งยืนสร้างความหยัดยืนได้อย่างไร” ประกอบด้วย ปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคอนเซปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ, วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, พีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด และ สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ผลกำไรไม่ใช่เป้าสูงสุด

“อุทัย” กล่าวว่า จากรายงานของ UN Global Compact ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย พบว่าความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ซีอีโอเอเชียให้ความสำคัญสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.การเพิ่มทักษะแรงงาน 2.รวบรวมข้อมูลความยั่งยืน 3.เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจหมุนเวียน 4.ทบทวนค่านิยมองค์กร และ 5.สร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน

ในฐานะที่แสนสิริเป็นองค์กรธุรกิจขนาดกลาง เล็งเห็นว่าทางออกของความท้าทายดังกล่าวคือ การสร้างกลยุทธ์ในด้านความยั่งยืน จึงดำเนินงานเรื่องนี้มากว่า 10 ปี แต่ปัจจุบันมามุ่งเน้นในมิติ ESG (Environmental-Social-Governance) นอกจากนั้น พบว่า กลุ่มที่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน คือ กรีนพาร์ตเนอร์ และความร่วมมือในอีโคซิสเต็มที่สนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“อุทัย” กล่าวด้วยว่า แสนสิรินำเสนอทั้งผลิตภัณฑ์ และบริการด้านการอยู่อาศัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสังคม และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ คือ ภายในองค์กร ความร่วมมือกับพันธมิตร และชุมชน สังคม

โดยเป้าหมายสูงสุดด้านความยั่งยืนของแสนสิริไม่ใช่เฉพาะการดำเนินงานของบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนกรีนพาร์ตเนอร์ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยแสนสิริประกาศพันธกิจอาสา และเป็นผู้นำในการสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสนสิริทำ คือ แนวคิดนวัตกรรมบ้านสีเขียว (Green Living Designed Home) สำหรับแนวคิดดังกล่าวประกอบด้วยกลไกการทำงาน 3 Green Framework ดังนี้

หนึ่ง Green Procurement คือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน พร้อมวางเป้าหมายจัดซื้อวัสดุคาร์บอนตํ่า ทั้งนี้ แสนสิริเลือกใช้วัสดุดังกล่าวไปแล้วกว่า 53% ในปี 2566

สอง Green Construction ขั้นตอนก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, ลดระยะเวลาการก่อสร้างลง 3 เดือน, ลดขยะจากการก่อสร้างถึง 15% รวมถึงช่วยลดฝุ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไซต์ก่อสร้างเป็นจำนวนมาก

สาม Green Architecture & Design การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย (Well-being) รวมถึงการออกแบบที่ผสานแนวคิดการพึ่งพาธรรมชาติ (Nature Based Design Solution) ให้มากที่สุด

“TGO” ชี้โลกเปลี่ยน-ต้องปรับ

“ดร.เกียรติชาย” กล่าวว่า ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดสุทธิเป็นศูนย์” ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในระดับประเทศ เมือง ประชาชน รวมถึงองค์กรธุรกิจจะต้องมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก

“TGO ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือทั้งองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น โดยชุมชนมีการประเมิน Carbon Footprint หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม และงานอีเวนต์ และภาคเมือง จังหวัด รวมไปถึงระดับบุคคล วันนี้ Carbon Footprint เป็นเรื่องที่ Must have ไม่ใช่ Nice to have อีกต่อไป”

วัสดุตอบโจทย์ความหยัดยืน

“ปรมา” กล่าวว่า สัญญาณการตอบรับเมกะเทรนด์ด้านความยั่งยืนจากฝั่งผู้บริโภคมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้การตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนอาจทำให้หลายองค์กรรู้สึกเหมือนเป็นงานที่โดนบังคับ และรู้สึกสวนทางกับเป้าหมายด้านผลกำไร แต่สัญญาณจากผู้บริโภคที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่บอกเราว่าอีกไม่นาน เป้าหมายด้านความยั่งยืนกับเป้าหมายด้านการสร้างผลกำไร อาจจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

“วชิระชัย” กล่าวเสริมว่า การจะมีที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน วัสดุมีความสำคัญอย่างมาก วัสดุที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนต้องตอบโจทย์ในหลายมิติ มีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าหรือช่วยให้ที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน รวมถึงตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของคนที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

“พีรกานต์” กล่าวว่า การสร้างความยั่งยืนทางพลังงานอย่างหยัดยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน การใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอุตสาหกรรมของคู่ค้าผู้ประกอบการ ไปจนถึงกลุ่มบุคคลผู้อยู่อาศัย ทุกคนล้วนเป็นผู้ใช้พลังงานในการดำเนินการกิจการหรือกิจวัตรประจำวัน

“ฉะนั้น ทุกคนจึงเป็นผู้เล่นสำคัญในการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน และจะได้รับผลประโยชน์ในการลดภาระค่าไฟฟ้าอีกด้วย”

“สมัชชา” กล่าวว่า ธุรกิจหลักของแสนสิริคือการนำส่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมี Value Chain และ Supply Chain ที่ค่อนข้างยาว ดังนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญจุดที่จะบริหารจัดการ อาทิ นำนวัตกรรมมาควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและลดการใช้วัสดุ มีการออกแบบที่ช่วยให้ใช้คอนกรีตลดลง และเปลี่ยนมาใช้ Geen Cement เพื่อลดการปล่อย CO2 ในกระบวนการผลิต

“นอกจากนั้น การสร้างความมีส่วนร่วมที่เกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องหาแนวทางและวิธีการในการทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้บ้านที่ดี แข็งแรง รวมถึงผลกระทบต่อโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความหยัดยืนให้กับแสนสิริที่ปรับตัวเข้ากับบริบทใหม่ของโลก”