“อัจฉริยา เจริญศักดิ์” มือปั้น Social Enterprise ปตท.

ต้องช่วยเหลือชุมชนให้เขายืนได้ด้วยขาของตัวเอง ถือเป็น “mindset” ของกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และรูปแบบที่ตอบโจทย์ได้ทั้ง ปตท.และชุมชนในขณะนี้คือ รูปแบบ “social enterprise” หรือ SE ที่นำกลไกการบริหารภาคธุรกิจมาบริหารโครงการ “ประชาชาติธุรกิจ”

สัมภาษณ์พิเศษ “อัจฉริยา เจริญศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นเสมือนตัวกลางสำหรับดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับงบประมาณจาก 7 บริษัทในเครือ ปตท. กว่า 30 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาให้กับชุมชน

“อัจฉริยา” เล่าภาพความคิดของเธอว่า หลังจากโครงการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ส่งผลให้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO ปตท.ได้ประกาศเป็นนโยบายว่าโครงการด้าน CSR จะต้องใช้รูปแบบ social enterprise ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับ 2 โครงการใหม่ คือ 1) พื้นที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ และ 2) พื้นที่จังหวัดชุมพร ร่วมมือกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) การโฟกัสในพื้นที่ดังกล่าวนั้น

อัจฉริยาบอกว่า เดิมทีในพื้นที่มีการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าอยู่แล้ว จึงต่อยอดได้ไม่ยาก

“ปตท.และผู้เชี่ยวชาญลงไปให้ความรู้กับเกษตรกร จัดโปรแกรมศึกษาจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง ปัจจุบันในพื้นที่บางส่วนของแก่งกระจานเริ่มปลูกกาแฟแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิต”

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่แก่งกระจานในจังหวัดเพชรบุรี ทีมงานยังมีข้อกังวลที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพราะโครงการดังกล่าวมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และในกรณีที่โครงการประสบความสำเร็จ ก็กังวลว่า

นั่นหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จะดีขึ้น ประชากรในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นและการใช้ชีวิตอาจจะเปลี่ยนไปจากวิถีเดิมที่เป็นอยู่

ส่วนโครงการในพื้นที่จังหวัดชุมพร ได้ร่วมมือกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะมีการลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) เพื่อเพิ่มมูลค่า (value added) ให้กับการใช้ประโยชน์จากป่า จากเดิมที่ขอใช้ปลูกไม้เพื่อตัดขายในราคาที่ถูกมาก ดังนั้น เมื่อประเมินพื้นที่แล้วยังสามารถปลูกพืชอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะปลูกกาแฟ ขั้นตอนภายหลังการลงนามแล้ว ปตท.จะนำเสนอรูปแบบให้ อ.อ.ป. เร็ว ๆ นี้

การนำโครงการรับซื้อเมล็ดกาแฟขยายในพื้นที่ภาคใต้นั้น อัจฉริยาระบุว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปลูกกาแฟคือ บนภูเขาที่มีอากาศเย็นและเป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่แตกต่างจากพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นสายพันธุ์อราบิก้า ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้ที่เหมาะปลูกกาแฟ เช่น ชุมพร และระนอง ปตท.ยังมองว่าการเข้ามาปลูกกาแฟในพื้นที่มากขึ้น อาจช่วยกระตุ้นราคาสินค้าภาคเกษตรดีขึ้น ทั้งราคายางพาราและปาล์มน้ำมันได้

อัจฉริยากล่าวถึงการพัฒนารูปแบบ SE ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกลุ่มเป้าหมายเดียวคือเกษตรกรเท่านั้น ปตท.ยังได้นำรูปแบบดังกล่าวมาใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับพนักงานในเครือของ ปตท.และชุมชนที่อยู่พื้นที่รอบสำนักงานใหญ่ รวมถึงใกล้พื้นที่สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ด้วย โดยใช้ “ปัญหา” ตั้งเป็นโจทย์เพื่อแก้ไข

ยกตัวอย่างโครงการที่อยู่ในระหว่างเริ่มต้น ที่เน้นเรื่องสร้างอาชีพในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ โครงการ “PTT Louage” เป็นความร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อพัฒนาพื้นที่ปั่นจักรยาน ปตท. เข้าไปสนับสนุนห้องน้ำ และจ้างผู้สูงอายุมาเป็นพนักงานต้อนรับหรืองานอื่น ๆ เป็นต้น เพราะผู้สูงอายุบางคนก็มีศักยภาพที่จะทำงานต่อได้ ตามมาด้วย โครงการ PTT Day Care หรือสถานที่เลี้ยงเด็ก หรือเนิร์สเซอรี่ เพื่อลดความกังวลในการรับ-ส่งลูกของพนักงานในเครือ ปตท. โดยร่วมมือกับกลุ่มแม่บ้านการรถไฟฯ ผู้สนใจร่วมงานจะได้รับการฝึกสอนวิธีเลี้ยงเด็กก่อน

หลังจากนั้นจึงได้เริ่มงานและโครงการ “UPCYCLING” คือ การผลิตสินค้าจากขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเลในจังหวัดระยอง โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าประเภท เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เทียบกับต้นทุนผลิตเสื้อจากขยะพลาสติกของจีนอยู่ที่ 80 บาทต่อตัว ในขณะที่ต้นทุนการผลิตในไทยอยู่ที่ 100 บาทต่อตัว ทำให้สินค้ารีไซเคิลมีราคาสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปตท.อยู่ในระหว่างทำการตลาดกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และเร็ว ๆ นี้ ยังเตรียมทำตลาดลูกค้ารายย่อยเพิ่มเติมอีกด้วย