เสื้อคิวอาร์โค้ด ปลุกกระแสต้านอาวุธปืน ไอเดียบรรเจิดของนักศึกษาสหรัฐ

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ที่น่าสลดใจมากคือการก่อเหตุกราดยิงบ่อยครั้งพุ่งเป้าที่โรงเรียน หรือสถานศึกษา 

แม้จะเสียหายล้มตายกันไปแล้วจำนวนมาก แต่เรื่องการออกกฎหมายควบคุมปืนก็ยังมีทั้งฝ่ายผลักดันและฝ่ายต่อต้าน

ในฝั่งผู้เรียกร้องและสนับสนุนให้ออกกฎหมายควบคุมปืน เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มนักศึกษาพาร์กแลนด์ (Park Land) ไอเดียบรรเจิด ออกแบบเสื้อคิวอาร์โค้ดเพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องกฎหมายควบคุมปืน กับแคมเปญ March For Our Lives

แจมเมล เลมี่ (Jammal Lemy) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแคมเปญ March For Our Lives และผู้ก่อตั้งกลุ่มนักศึกษาพาร์กแลนด์ เป็นผู้ออกแบบเสื้อคิวอาร์โค้ดที่ว่านี้ โดยออกแบบทั้งหมด 3 แบบ คือเสื้อฮู้ด เสือ้ยืดแขนยาว และเสื้อยืดแขนสั้น

ความพิเศษของเสื้อ คือ ด้านหน้าจะมีลายสกรีนที่สามารถนำสมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ด หรือบาร์โค้ดได้ เจ้าโค้ดเหล่านี้จะพาเราเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ที่ใช้ลงทะเบียนเพื่อการลงคะแนนโหวตเลือกตั้งผู้ร่างกฎหมายการใช้ปืน ซึ่งคิวอาร์โค้ดบนเสื้อสามารถเข้าถึงผู้ใช้สิทธิ์ 38 รัฐ จาก 50 รัฐทั่วประเทศ

ตำแหน่งของคิวอาร์โค้ดบนเสื้อเป็นตำแหน่งเดียวกับดาวดวงเล็ก ๆ ในธงชาติ ส่วนสีแดงของธงจะเป็นแถบเส้นบาร์โค้ดประกอบด้วยเส้นหนาบางสลับกัน

เลมี่เล่าว่า เขาได้แรงบันดาลใจในการทำเสื้อตัวนี้มาจากการเห็นแคมเปญก่อนหน้าของทางสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRS) เพื่อการสนับสนุนการใช้อาวุธปืนในสหรัฐ เลมี่จึงทำแคมเปญที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับทางสมาคมปืนไรเฟิล คือ ความพยายามต่อต้านสิทธิการใช้ปืนในสหรัฐผ่านแคมเปญนี้

“เราต้องการผลักดันให้คนหนุ่มสาวตระหนักถึงปัญหาและสามารถก้าวข้ามมันไปให้ได้ เราจึงต้องการสิ่งที่เป็นเหมือนสื่อกลางในการส่งเมสเสจเหล่านี้ไปสู่กลุ่มคนที่เรากำลังพูดถึง” เลมี่กล่าว

ด้านสถาบันสถาปนิกอเมริกา (The American Institute of Architects) หรือ AIA ก็ตื่นตัวกับกระแสนี้เช่นกัน ทางสถาบันเปิดเผยโครงการที่ใช้ชื่อว่า “The Power of Design” (พลังแห่งการออกแบบ) เพื่อช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก

แต่เลมี่ได้โต้แย้งไอเดียนี้ว่า สถาปนิกควรออกแบบในเชิงรุกมากกว่า เขาเห็นว่าควรจะปรับปรุงดูแลวิถีชีวิตในชุมชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงจากการใช้ปืนลงได้

“สิ่งที่ควรตระหนักถึงเป็นอย่างแรก คือ การหาต้นตอของปัญหา ไม่ใช่การสร้างเกราะกำบังให้เด็ก ๆ ผมคิดว่าสิ่งที่นักออกแบบสามารถทำได้ คือ คือการทำให้เยาวชนคนหนุ่มสาวมีโอกาสมากขึ้นในสภาพแวดล้อมของพวกเขา นั่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เขาพบกับทางออกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” เลมี่กล่าว

สำหรับราคาเสื้อฮูดดี้อยู่ที่ 44.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 1,500 บาท เสื้อยืดแขนยาว 29.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 บาท และเสื้อยืดแขนสั้น 24.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 800 บาท

นอกจากบรรดาสินค้าประเภทเสื้อผ้าแล้ว กลุ่มนี้ยังมีสินค้าอื่น ๆ ให้ร่วมสนับสนุนแคมเปญ “Gun Free Zone” ได้อีก ทั้งหมวก กระเป๋า และผ้าพันคอ