“ห้องความดันลบ” สำคัญอย่างไรในการดูแลผู้ป่วย “โควิด-19”

ภาพห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี ภาพ: Stefan Sauer/Getty Images

“ห้องความดันลบ” เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ว่าเป็นห้องที่ใช้แยกผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ออกจากผู้ป่วยรายอื่นในโรงพยาบาล

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “ห้องแยกโรคชนิดความดันลบ” ดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้

ห้องความดันลบ หรือ ห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure เป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยว ที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก ซึ่งตามปกติ อากาศจะไหลจากที่ที่มีความดันอากาศสูงกว่าไปหาที่ที่มีความดันอากาศต่ำกว่า นั่นหมายความว่า อากาศภายในห้องผู้ป่วยซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่า จะไม่ไหลออกจากห้องเมื่อมีการเปิด-ปิดประตู และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ในสถานพยาบาล

ในบทความวิชาการชื่อ “การระบายอากาศของห้องคนไข้แบบแยกเดี่ยว” โดย ศาสตราภิชาน ทวี เวชพฤติ อธิบายว่า ห้องคนไข้แบบแยกเดี่ยวที่มีความดันในห้องเป็นลบ เป็นหนึ่งในรูปแบบของห้องสำหรับคนไข้แยกเดี่ยว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคทางอากาศ และมักนำมาใช้กับโรคที่ติดต่อทางอากาศได้ เช่น ผู้ป่วยวัณโรคปอด ซึ่งมีโอกาสติดผู้ป่วยคนอื่นๆ และบุคลากรของโรงพยาบาลได้ง่ายหากไม่มีการแยกห้องที่ถูกต้อง

นอกจากการควบคุมความดันอากาศให้เป็นลบ โดยมีความดันต่ำกว่าภายนอกไม่น้อยกว่า 2.5 Pascal เพื่อป้องกันเชื้อไหลออกจากห้องไปสู่ภายนอกแล้ว เอกสารของกองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่าจะต้องควบคุมทิศทางการไหลของอากาศจากสะอาดมากไปหาน้อยด้วย นอกจากนี้ อากาศที่ไหลออกจากห้องจะต้องผ่านการกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงเจือจางและฆ่าเชื้อในอากาศก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรงพยาบาลในไทยใช้ห้องแยกผู้ป่วยแบบความดันลบรับมือสถานการณ์ ตามคู่มือการปรบปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารสถานพยาบาล ระบุว่า สถาบันบำราศนราดูรได้เคยดัดแปลงและสร้างห้องให้เหมาะกับการดูแลผู้ป่วยติดต่อทางเดินหายใจในช่วงที่โรคซาร์ส (SARS) ระบาดในปี 2545 ซึ่งต่อมาได้เป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเรียนรู้ และสำนักวัณโรคของสถานบันบำราศฯ ก็ได้เสนอแนะแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับปรุงห้องคนไข้แยกเดี่ยวมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปี 2558 ประเทศไทยได้ปรับปรุง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับใหม่ หลังจากที่ฉบับเก่าบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2523 เพื่อเพิ่มกลไกในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่ ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณสำหรับเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งรวมถึงงบประมาณสำหรับ ห้องแยกผู้ป่วยชนิดความดันลบ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 รายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพและความพร้อมของห้องแยกโรคชนิดความดันลบของโรงพยาบาลศูนย์ทั่วไปใน 8 จังหวัดที่มีด่านเข้าออกระหว่างประเทศ โดย กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และพบว่า 6 ใน 8 โรงพยาบาลผ่านเกณฑ์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ โดยเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคู่มือเกี่ยวกับห้องปลอดเชื้อเพื่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้ตามมาตรฐานเดียวกัน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ได้ชี้แจงในรายการตอบโจทย์ ของไทยพีบีเอส ว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ โรงพยาบาลในเครือข่ายมีห้องความดันลบอย่างน้อย 70 ห้อง ไม่นับรวมภาคเอกชน ขณะที่ในแต่ละภูมิภาคต่างๆ มีอีกราว 15-20 ห้อง ยังไม่นับรวมห้องคัดแยกระดับรอง พร้อมยืนยันว่าเครื่องช่วยหายใจมีเพียงพอสำหรับผู้ป่วย