IATA เผยตลาดการบินจีนเริ่มฟื้น ปริมาณผู้โดยสารเอเชียโตแรงจากฐานต่ำ

นักเดินทางที่สวมใส่หน้ากากอนามัย เข็นรถผ่านด้านหน้าป้ายแสดงตารางเที่ยวบินของวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่เปิดใช้งานเพียง 2 จอ จากทั้งหมด 4 จอ
(Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

IATA เผยการเดินทางด้วยเครื่องบินฟื้นตัวแข็งแกร่ง ปริมาณผู้โดยสารของสายการบินในเอเชียแปซิฟิคโตแรง! แต่มาจากฐานที่ต่ำ ส่วนเส้นทางบินในประเทศจีนเริ่มฟื้น หลังนโยบายโควิดเป็นศูนย์กระทบการบิน ส่วนอินเดีย ผู้โดยสารใกล้แตะระดับก่อนโควิด

วันที่ 24 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกรายงานวิเคราะห์ตลาดการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ (Air Passenger Market Analysis) ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่า การเดินทางทางอากาศยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และมีการฟื้นตัวของการเดินทางในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร (Revenue Passenger Kilometer : RPK) ของทั้งอุตสาหกรรมเติบโตถึง 58.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 75.6% ของเดือนกรกฎาคม 2562 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ฟื้นตัวจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 5 จุด (ppts)

กราฟแสดงปริมาณผู้โดยสารของทั้งโลก แสดงจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2563 และค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ถึงจุดเดิม
ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, July 2022

ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic RPKs) ของทั้งอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2565 เติบโต 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 อยู่ 13.1% ข้อมูลล่าสุดพบว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศมีการพัฒนาไปในทิศทางบวก จากปริมาณการสัญจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิค โดยเฉพาะประเทศจีน

ในส่วนของประเทศจีน พบว่าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่ำกว่าเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 30.5% และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถึง 19.9 จุด ทั้งนี้ ตลาดเที่ยวบินภายในประเทศจีน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค อาจทำให้เห็นภาพของการฟื้นตัวอย่างฉับพลันดังที่ปรากฏ

สื่อต่างประเทศรายงานว่า จีนยังคงเข้มงวดกับการล็อคดาวน์บางพื้นที่เพื่อควบคุมโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน เมื่อมีการออกคำสั่งควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว

ฝั่งประเทศอินเดีย พบว่าปริมาณการเดินทางในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 97.8% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564  และยังต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่เพียง 18.7%

ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, July 2022

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International RPKs) ของทั้งอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 150.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนถึงการเดินทางระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินที่จดทะเบียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 528.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าเติบโตมากที่สุดในทุกภูมิภาค และเติบโตจากเดือนที่ผ่านมา 23.1% เป็นการเติบโตห้าเดือนติดต่อกัน

ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, July 2022

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ ของสายการบินที่จดทะเบียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงห่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากในภูมิภาคอื่นมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเท่ากับหรือสูงกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว

ขณะที่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินที่จดทะเบียนในภูมิภาคละตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ ในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 119.4% และ 129.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศของอเมริกาเหนือ ต่ำกว่าระดับของเดือนกรกฎาคม 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่เพียง 12.7% เท่านั้น และถือว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางเส้นทาง เช่น ยุโรป-อเมริกาเหนือ, ตะวันออกกลาง-อเมริกาเหนือ มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิดไปเรียบร้อยแล้ว

ที่มา : IATA’s Air Passenger Market Analysis, July 2022

รายงานจาก IATA ระบุต่อไปว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร ของผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy RPKs) ซึ่งรวมไปถึงที่นั่งชั้นประหยัดพรีเมี่ยม (Premium Economy) ของเดือนกรกฎาคม 2565 มีสัดส่วน 71.5% ของเดือนมกราคม 2562

ด้านปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารของทั้งอุตสาหกรรม (ASKs) ในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 37.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ 23.6%

อัตราบรรทุกผู้โดยสารของทั้งเส้นทางบินในและต่างประเทศ (Passenger Load Factor) อยู่ระดับสูงกว่า 80% โดยอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Passenger Load Factor) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (รวมเส้นทางในและต่างประเทศ) ประจำกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 76.4% และเพิ่มขึ้น 10 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศจีน อยู่ที่ 73% ลดลง 3.6 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าเส้นทางบินในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 87.1%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง