ภูเก็ต-ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรบ้าง ? จากการพลาดเจ้าภาพ Expo 2028

ภูเก็ตเสียโอกาสอะไรบ้าง
Photo by Madaree TOHLALA / AFP

ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้วสำหรับการชิงเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ หรือ Specialised Expo ในปี 2028 โดยประเทศเซอร์เบีย ชนะคู่แข่งอีก 4 ประเทศคือ สเปน สหรัฐอเมริกา ไทย และ อาร์เจนตินา

สำหรับประเทศไทยนั้นนำเสนอจัดงานภายใต้ชื่อ เอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ประเทศไทย หรือ Expo 2028 Phuket Thailand ภายใต้แนวคิด “Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity” หรือชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว  

เน้นการเป็นเวทีระดับโลกในการแบ่งปันประสบการณ์และสนับสนุนให้ประเทศผู้เข้าร่วมงานได้แสดงนโยบายและนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนร่วมกัน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล สอดคล้องกับแนวคิด ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)

โดยก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand (Thailand Candidature Committee) ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีกว่า 4,180 ล้านบาท 

โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 

1.ด้านเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศจากนักเดินทางทั้งคนไทยและต่างชาติรวมกว่า 4.92 ล้านคน มีผู้เข้าชมหมุนเวียนประมาณ 7 ล้านคนจาก 106 ประเทศ 

มีเงินสะพัดกว่า 49,231 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากกว่า 39,357 ล้านบาท เกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 9,512 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานมากกว่า 113,439 ตำแหน่ง 

2.ด้านการพัฒนาเมือง ของจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี รวมถึงโอกาสการกระจายรายได้ของนักเดินทางต่างชาติในการจับจ่ายใช้สอยไปยังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 

3.ด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในการเป็นจุดหมายปลายทางด้าน “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้” โดยจะก้าวสู่การเป็น “ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” ช่วยยกระดับทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้เป็นเมืองด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

4.ด้านการบริหารและพัฒนาพื้นที่หลังการจัดงาน โดยพื้นที่ อาคาร และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจะพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร ศูนย์อภิบาลผู้สูงอายุนานาชาติ ศูนย์ใจรักษ์ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร 

และก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ และ Ecological Park อีกด้วย