การบินไทยรุกหนักยุโรป-เอเชีย คิกออฟแบรนด์ TG บินในประเทศสิ้นปีนี้

เครื่องบินแบบโบอิ้ง 787-9 การบินไทยกำลังทะยานขึ้น
ที่มาภาพ : การบินไทย

“การบินไทย” รุกเพิ่มจำนวนที่นั่งการบินทั้งเส้นทางบินสู่ยุโรป-เอเชีย รองรับแผนเพิ่มเครื่อง A350-A321 Neo อีก 20 ลำ ภายในปี’69 พร้อมเร่งโอนเครื่อง A320 ไทยสมายล์ทั้งหมด 20 ลำเข้าฝูงบิน TG ตั้งเป้าคิกออฟแบรนด์ “การบินไทย” บินในประเทศปลายปีนี้ มั่นใจปี’66 กวาดรายได้รวม 1.6 แสนล้าน ขนส่งผู้โดยสาร 9 ล้านคนตามเป้าหมาย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนที่นั่ง (capacity) ของสายการบินอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบการจับมือกับพันธมิตรสายการบินในต่างประเทศและเพิ่มเครื่องบินใหม่ เพื่อรองรับดีมานด์ในตลาดที่ยังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งในเส้นทางบินสู่ยุโรป ออสเตรเลีย เส้นทางในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเส้นทางใน CLMV

โดยปลายปี 2566 นี้บริษัทมีแผนรับมอบเครื่องบิน A350 ลำใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 5 ลำ และอีก 4 ลำในช่วงต้นปี 2567 หลังจากที่รับมอบเข้ามาแล้วจำนวน 2 ลำในช่วงครึ่งปีแรกของ
ปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาเครื่องบินของปี 2566 ที่มีแผนรับเครือ A350 เพิ่มจำนวน 11 ลำ

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแผนจัดหาเครื่องบิน A321 Neo เข้ามาเสริมฝูงบินลำตัวแคบ A320 (ไทยสมายล์) ที่ทำการบินเส้นทางบินระยะสั้นและเส้นทางบินภายในประเทศ (domestic) อีกจำนวน 12 ลำ ซึ่งมีกำหนดรับมอบในปี 2569

“เครื่องบินใหม่ที่เรารับมอบมาเพิ่มนั้น เป็นในลักษณะเช่าดำเนินการทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคตข้างหน้า ส่วนเครื่อง A321 Neo นั้น บางส่วนนำมาทดแทนเครื่อง A320 ที่จะทยอยหมดสัญญาเช่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย จากแผนดังกล่าวนี้จะทำให้ปี 2569 หลังการรับมอบเครื่องบินใหม่ครบ 23 ลำตามแผน การบินไทยจะมีคาพาซิตี้ หรือจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30%” นายชายกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน (ควบรวมไทยสมายล์) นั้น นายชายกล่าวว่า การดำเนินการคืบหน้าตามแผน ปัจจุบันได้โอนเครื่องไทยสมายล์เข้ามาสู่ฝูงบินการบินไทยแล้ว 4 ลำที่เหลืออีก 16 ลำอยู่ในขั้นตอนการโอนย้าย คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้

“ตอนนี้เครื่อง A320 ที่โอนเข้าฝูงบินการบินไทแล้ว 4 ลำ ทำการบินในเส้นทาง กัมพูชา, ลาว และเมียนมา ส่วนเส้นทางภายในประเทศนั้นจะเปลี่ยนเป็นแบรนด์การบินไทยทั้งหมดช่วงปลายปีนี้”

นายชายยังกล่าวเพิ่มเติมถึงผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ด้วยว่า บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 3,213 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 6,457 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าจากแผนดังกล่าวข้างต้น มั่นใจว่าผลประกอบการสำหรับปี 2566 นี้บริษัทจะมีรายได้รวมที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารรวม 9 ล้านคนตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี ขณะเดียวกัน อาจทำให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่าแผนได้ 1 ไตรมาส หรือประมาณไตรมาส 3/2567 จากแผนเดิมคือช่วงไตรมาส 4/2567 เช่นเดียวกับแผนการนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดอีกครั้งได้ประมาณไตรมาส 4/2567 จากแผนเดิมคือไตรมาส 1/2568

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการตลาดและการเพิ่มเส้นทางบินว่า การบินไทยมีแผนเพิ่มทั้งเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่ในตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งเส้นทางบินสู่ยุโรปและเส้นทางในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ปลายปีนี้มีแผนเพิ่มเที่ยวบินสู่โอซากา, ฮอกไกโด (ญี่ปุ่น), เกาหลีไต้ ไต้หวัน และจีน จากนั้นต้นปี 2567 จะเพิ่มในเส้นทางสู่ยุโรป อาทิ เมืองมิลาน (อิตาลี) ออสโล (นอร์เวย์) เป็นต้น

สำหรับตลาดจีนที่การบินไทยเปิดทำการบินอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 นั้น ปัจจุบันพบว่ากระแสการตอบรับยังไม่ดีนัก จึงจำเป็นต้องชะลอกระแสการฟื้นตัวอีกสักพัก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่สู่ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว จากปัจจุบันจำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือ daily flight ในเดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

“ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 การบินไทยมีสัดส่วนรายได้จากเส้นทางบินยุโรปและออสเตรเลีย 37-38% เส้นทางเอเชีย (รวมจีน) 33% อินเดีย (เอเชียใต้) 10% มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ 7% ที่เหลือเป็นตลาดอื่น ๆ และคาดว่าภาพรวมทั้งปีของปี 2566 นี้จะคงอยู่ในทิศทางเดียวกับครึ่งปีแรก”