Step by Step นโยบายเปิดประเทศ 120 วัน

เปิดประเทศ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเดินหน้าเปิดประเทศตามนโยบาย 120 วัน โดย 1 ตุลาคมนี้เตรียมเปิดเพิ่มอีก 5 จังหวัด จากนั้นจะเพิ่มอีก 21 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 พร้อมทั้งมีแผนทำ “แทรเวลบับเบิล” กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-มาเลเซีย” เปิดด่านค้าชายแดนในต้นปี 2565

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงแผนการเปิดประเทศว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะดำเนินการแบบ step by step และเป็นไปตามนโยบายเปิดประเทศ 120 วันของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เปิดประเทศ

โดยใน สเต็ปที่ 1 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) ได้ดำเนินการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปแล้วใน 3 พื้นที่หลัก ประกอบด้วย

1.ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2564

2.สมุยพลัส โมเดล เมื่อ 16 กรกฎาคม 2564

และ 3.โครงการ 7+7 ภูเก็ต-สมุย, ภูเก็ต-ไร่เลย์ (กระบี่), ภูเก็ต-เขาหลัก (พังงา)

จากนั้น สเต็ปที่ 2 (วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป) มีแผนเปิดอีก 5 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ (อ.เมือง, แม่ริม, ดอยเต่า), ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน), เพชรบุรี (ชะอำ) และชลบุรี (พัทยา, บางละมุง, สัตหีบ)

สเต็ปที่ 3 (วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป) เปิดเพิ่มอีก 21 จังหวัดในทุกภาคของประเทศ

โดยภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงราย, แพร่, น่าน, ลำพูน, สุโขทัย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ประกอบด้วย อุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ, อุบลราชธานี, เลย (เชียงคาน)

ภาคตะวันออก ประกอบด้วยระยอง (เกาะเสม็ด), จันทบุรี, ตราด (เกาะกูด, เกาะช้าง)

ภาคตะวันตก ประกอบด้วย ราชบุรี, กาญจนบุรี

ภาคใต้ ประกอบด้วย ระนอง, ตรัง, สตูล, สงขลา, นครศรีธรรมราช และภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา

และ สเต็ปที่ 4 (วันที่ 1-15 มกราคม 2565) จะเป็นการเปิดประเทศในรูปแบบของการทำบับเบิล (travel bubble) ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่

ประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย สุรินทร์ (ช่องจอม), สระแก้ว (อรัญประเทศ), ตราด (เกาะกง)

ประเทศเมียนมา (พม่า) ประกอบด้วย เชียงราย (แม่สอด, ท่าขี้เหล็ก), ระนอง (เกาะสอง)

ประเทศลาว ประกอบด้วย นครพนม, หนองคาย, มุกดาหาร

และประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย ยะลา (เบตง), นราธิวาส (สุไหงโก-ลก), สงขลา (ด่านนอก, ปาดังเบซาร์ และสตูล (วังประจัน)

“รูปแบบการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของสาธารณสุข และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยว่าต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70%”

สำหรับการเดินทางภายในประเทศนั้น “พิพัฒน์” ระบุว่า จะเปิดดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากเดือนตุลาคมเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคใต้ในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันด้วย

“ทีเส็บ” ดันยุทธศาสตร์ “เมืองแห่งไมซ์” เสริมแกร่งเศรษฐกิจ

ก่อนวิกฤตโควิดอุตสาหกรรมไมซ์โดยรวมของไทยก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี โดยตลาดในประเทศคิดเป็นมูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาท และเป็นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจ

“ศุภวรรณ ตีระรัตน์” รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ บอกว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของทีเส็บในช่วงนี้จะยังคงมุ่งเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเมืองไมซ์ซิตี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจกระจายสู่ภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ ได้เตรียมผลักดันการจัดงานไมซ์ในประเทศผ่านแคมเปญ “เปิดเมืองไมซ์ ร่วมใจช่วยชาติ” โดยมีโครงการ “เปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐาน” กระตุ้นการจัดงานไมซ์ในเมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ พร้อมจัดแคมเปญสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูตลาดผ่านแคมเปญ Regional Best Show สำหรับงานแสดงสินค้าที่เป็นเป้าหมายหลักของภูมิภาค และแคมเปญ Gear Up Exhibition สำหรับงานแสดงสินค้าทั่วไป

ขณะที่ตลาดการประชุมจะดำเนินการผ่าน 2 GO CAMPAIGN จัดงานประชุมทั่วไทยพร้อมก้าวไกลสู่สากล และโครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า ซึ่งปีนี้ได้มีการปรับเงื่อนไขการสนับสนุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถจัดงานภายในจังหวัดได้โดยไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดหรือภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดงานภายในจังหวัดมากขึ้น

“สมศักดิ์ จังตระกุล” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ที่เน้นการจัดประชุมสัมมนาในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ จะมุ่งพัฒนาความเป็นไมซ์ซิตี้ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์เมืองในการเป็น smart city และ creative city

ด้าน “สนธยา คุณปลื้ม” นายกเมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี บอกว่า ไมซ์เป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเมืองพัทยามีความพร้อมทั้งในด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ จึงได้เตรียมแผนการเปิดเมืองภายใต้โครงการ Pattaya Move on

สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของเมืองพัทยานั้น จะดำเนินการร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการดึงงานระดับ world event และงานประชุมนานาชาติเข้ามาจัดอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ “อนุชา มีเกียรติชัยกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า เชียงใหม่ได้วางแผนพัฒนาจังหวัดระยะ 5 ปี (2566-2570) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง เศรษฐกิจดี ประชากรอยู่ดีกินดี และสิ่งแวดล้อมดี โดยในทุกส่วนของแผนนี้จะมีกิจกรรมไมซ์เข้าไปผนวกอยู่ด้วยทุกระดับ เพราะไมซ์จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของจังหวัดพัฒนาไปด้วยกันได้

ด้าน “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมาภูเก็ตพึ่งพาเศรษฐกิจเพียงขาเดียวคือ การท่องเที่ยว พอได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะทำให้การท่องเที่ยวกลับมากอบกู้เศรษฐกิจ และในที่สุดได้นำไปสู่ยุทธศาสตร์ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

พร้อมทั้งได้เรียนรู้ว่าไมซ์สามารถที่จะผนวกเข้าไปไว้กับทุกเรื่องได้ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เรียกว่า “GEMMSS strategy” คือ G-gastronomy, E-education, M-marina, M-medical, S-sport city, S-smart city

เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจของภูเก็ตจากเดิมที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว โดยทุกสาขาธุรกิจที่แตกออกมาจะมีกิจกรรมไมซ์เข้าไปผนวกด้วยทั้งหมด