“ทีเส็บ” เตรียมไมซ์ภาคใต้ รับท่องเที่ยว “เรือสำราญ”

เรือสำราญ ไมซ์

“ทีเส็บ” เตรียมยกระดับการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ-อาหารพื้นถิ่นรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ ปลุกอุตสาหกรรมไมซ์ภาคใต้หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ คาดปลายปี’65 ตลาดเรือสำราญทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ภาคใต้ กล่าวว่า ภายใต้แผนธุรกิจไมซ์ระยะกลาง (ปี 2564-2566) มีกลยุทธ์สำคัญ 6 ด้านหลัก ประกอบด้วย การประมูลงานต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่, โปรโมตเส้นทางที่น่าสนใจ, พัฒนาบุคลากรและหน่วยงานในวงการ, นำนวัตกรรมมาใช้, ยกระดับภาคใต้ให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ (MICE) ระดับนานาชาติเพื่อดึงดูดนักเดินทาง และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์

ประกอบกับปัจจุบันเทรนด์ท่องเที่ยวโดยเรือสำราญกำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากสามารถปรับใช้กับกลุ่มอีเวนต์ธุรกิจด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ทีเส็บจึงมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ภาคใต้

ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของภูมิภาคให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ทุกคนอยากมา ผ่านจุดเด่นอย่างการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ด้วยเรือสำราญ และประสบการณ์การได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่น

“เรือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่สำคัญ ที่จะนำนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์เข้ามาในประเทศ ปัจจุบันได้เริ่มมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับการมาของนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ในช่วงปลายปี 2565 โดยได้การพูดคุย เวิร์กช็อปร่วมกับชุมชนมากยิ่งขึ้น สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ร่วมกัน พร้อมรองรับกับการเดินทางที่จะกลับมาในอนาคต ซึ่งเบื้องต้นได้รับความสนใจจากชุมชนเป็นอย่างดี” นายพัฒนชัยกล่าว

ด้านนายศิริศักดิ์ จิระชาญชัยศิริ หัวหน้าแผนกอินบาวนด์ บริษัท รีเกล อินเตอร์เนชั่นแนล แทรเวล จำกัด บริษัทตัวแทนการขายการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าภาพรวมของตลาดเรือสำราญจะสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 หรือหากสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น เรือสำราญบางบริษัทอาจปรับแผนมาเดินทางเร็วขึ้น

โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมเรือสำราญทั่วโลกเริ่มกลับมาดำเนินกิจการกันแล้ว เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ขณะนี้ผู้ประกอบการกลับมาให้บริการแล้วกว่า 80% ขณะที่ภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลียยังรอนโยบายเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาประเทศจีนและออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นตลาดที่สำคัญ หากทั้ง 2 ชาติเปิดประเทศอย่างเต็มที่ ก็เชื่อว่าจะมีผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อย่นระยะเวลาการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เมื่อผู้โดยสารถึงท่าเรือในประเทศไทย เพราะหากการตรวจคัดกรองเชื้อใช้เวลานาน อาจไม่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวในรูปแบบมาเช้า-เย็นกลับ

“การท่องเที่ยวในส่วนเรือสำราญนั้น บริษัทผู้ให้บริการและนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ความสะอาด ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข รวมถึงพร้อมรับมือกับความต้องการที่หลากหลายจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวแต่ละชาติ” นายศิริศักดิ์กล่าว

นายเบิด จำเริญนุสิต ประธานคณะกรรมการฝ่ายการตลาด สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA กล่าวว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ เพราะลูกค้าในกลุ่มตลาดไมซ์ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีความต้องการการเดินทาง ที่สามารถสร้างประสบการณ์ในรูปแบบการสัมผัสวิถีของคนในท้องถิ่น

โครงการดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจไปสู่ชุมชน และในอนาคตภาคธุรกิจยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่ภาคใต้

“ตั้งแต่มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ พบว่าองค์กรต่างชาติเริ่มให้ความสนใจ และช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ขอสอบถามราคามาบ้างแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าความสนใจ ของต่างชาติมาแล้ว ขึ้นอยู่กับทางประเทศไทยจะพร้อมต้อนรับได้มากน้อยแค่ไหน” นายเบิดกล่าว