“หมอโสภณ” กรมควบคุมโรค ไขปมยกเลิก RT-PCR/ATK 1 พ.ค.

สัมภาษณ์

นับว่าเป็นบทสรุปที่เป็น “ปัจจัยบวก” อย่างมากของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสำหรับแนวทางการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศของที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง และแนะนำให้ตรวจ self ATK สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ (เดิมระบุว่าต้องตรวจด้วย professional ATK) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นี้เป็นต้นไป

มาตรการดังกล่าวแม้จะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ แต่ในอีกมุมก็มีเสียงสะท้อนว่าเป็นการผ่อนคลายที่มากเกินไป อีกทั้งไม่มีแนวปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขที่ชัดเจนมารองรับ ทำให้วิตกว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ตามมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่หนักกว่าเดิม

ปรับให้สอดรับกับสถานการณ์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวคิดในการผ่อนคลายมาตรการการเปิดประเทศสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคครบโดสแล้ว ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 นี้ ไว้ดังนี้

“นายแพทย์โสภณ” บอกถึงแนวทางของการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวมาจากทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่อยากให้มีมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และได้หารือมาที่กรมควบคุมโรค (กระทรวงสาธารณสุข) พิจารณา ทางกรมควบคุมโรคจึงนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งได้มีการพิจารณาในหลายแง่มุม

อาทิ สถานการณ์ในต่างประเทศ มาตรการที่ต่างประเทศใช้ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาในหลายประเทศได้ยกเลิกใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแบบเข้มงวดแล้ว

ประกอบกับในประเทศไทยเราเองก็มีการเตรียมการเข้าสู่ระยะหลังการแพร่ระบาด คณะกรรมการวิชาการจึงได้พิจารณาและมีคำแนะนำตามที่เสนอให้พิจารณาในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 
22 เมษายนที่ผ่านมา

“นายแพทย์โสภณ” บอกว่า ถ้าจะดูสถานการณ์ในต่างประเทศตอนนี้จะพบว่าการแพร่ระบาดอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่ของไทยยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าอยู่บนเนินเขา กำลังจะก้าวสู่ช่วงขาลง และหากเปรียบเทียบจำนวนคนติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศตอนนี้ก็ถือว่าน้อยมาก วันละไม่ถึง 100 คน ขณะที่ในประเทศไทยยังจำนวนคนติดเชื้อวันละ 40,000-50,000 คน (รวม ATK)

เรียกว่า “ความเสี่ยง” ของการแพร่ระบาดในประเทศยังสูงกว่ามาก

ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจึงต้องปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ รวมทั้งเป็น “ประโยชน์” กับการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว เปิดเศรษฐกิจ และยังคำนึงถึงความปลอดภัย

ทยอยผ่อนคลายในประเทศ

เมื่อถามว่า การผ่อนคลายมาตรการสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่สะท้อนว่าจะผ่อนคลายมาตรการสำหรับในประเทศด้วยเช่นกันหรือไม่ “นายแพทย์โสภณ” บอกว่า สำหรับมาตรการภายในประเทศนั้นปัจจุบันก็ได้ผ่อนคลายไปเยอะแล้ว

โดยประเด็นสำคัญคือ ต้องอย่าลืมว่าวันนี้กับก่อนหน้านี้สถานการณ์ไม่เหมือนกัน วันนี้ทุกคนได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2-3 เข็ม แนวปฏิบัติจึงต้องลดลง และจะย้งคงเข้มงวดเมื่อประเมินว่ามี “ความเสี่ยง” ในระดับที่สูงเท่านั้น ซึ่งในที่ประชุม ศบค.ครั้งล่าสุดก็ได้ผ่อนคลายไปในหลายประเด็นแล้ว

สรุปคือว่า เราจะผ่อนคลายในระดับที่เรายังสามารถรักษาความปลอดภัยได้

ลุ้นร้านเหล้า-ผับ-บาร์เปิดปกติ

สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มร้านเหล้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ รวมถึงสถานบันเทิงต่าง ๆ ก็คิดว่าน่าจะผ่อนคลายเร็ว ๆ นี้เช่นกัน เพราะสถานการณ์ในขณะนี้โควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไป ส่วนจะผ่อนคลายทั้งหมด 1 กรกฎาคมนี้ ตามแผนการปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วทุกอย่างต้องเดินไปถึงจุดนั้นแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ เพราะตอนนี้ยังเดือนเมษายนอยู่

“ตอนนี้ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเขาก็คุยกันอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น ทุกอย่างจะต้องผ่อนคลายเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

โดยระหว่างนี้ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ยังคงต้องมีการตรวจสอบ ติดตาม และกำกับ ให้การปฏิบัติเป็นไปตามมาตรการที่กำหนด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้วย

ลดต้นทุน-เพิ่มดีกรีแข่งขัน

สำหรับประเด็นที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันมากรณีที่กรมควบคุมโรคติดต่อให้เหตุผลในการเปลี่ยนจากการตรวจแบบ professionnal ATK (มติของ ศบค. เมื่อ 18 มีนาคม 2565) เป็นให้ตรวจด้วย self ATK ระหว่างพำนัก ในที่ประชุม ศปก.กก.เมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมาว่า การดำเนินการตรวจ professional ATK ต้องใช้สถานที่ บุคลากร และทรัพยากร ซึ่งยากต่อการจัดการนั้น “นายแพทย์โสภณ” บอกว่า เหตุผลดังกล่าวนี้น่าจะเป็นเหตุผลรอง ไม่ใช่เหตุผลหลักในการเปลี่ยนแปลง

เพราะถ้าทุกฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องตรวจแบบ professionnal ATK ระบบการบริหารจัดการก็สามารถทำได้ เพราะปัจจุบันรูปแบบ Test & Go ที่ยังต้องตรวจด้วย RT-PCR นั้นระบบก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ และมีเอกชนพร้อมให้บริการจำนวนมาก และไม่ได้ใช้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเลย

แต่ประเด็นสำคัญคือ แนวทางดังกล่าวยังทำให้นักท่องเที่ยวมี “ต้นทุน” การเดินทาง เพราะการให้เอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการนั้นจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย และคนที่รับภาระค่าใช้จ่ายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนเดิม

“วันนี้เราตรวจ RT-PCR เฉลี่ยคนละ 2,500 บาท มีคนเดินทางเข้ามาวันละประมาณ 15,000 คน มีค่าใช้จ่ายการตรวจเกิดขึ้นวันหนึ่งหลายสิบล้านบาท แต่พบกลุ่มที่ติดเชื้ออยู่ประมาณ 100 คนต่อวัน และในจำนวนคนที่พบเชื้อส่วนใหญ่ก็อาการไม่รุนแรงด้วย”

พร้อมย้ำว่า โจทย์สำคัญของการผ่อนคลายมาตรการในวันนี้คือ เรื่องของ “ต้นทุน” การเดินทาง เพราะเป็น “ตัวแปร” สำคัญของการแข่งขันระหว่างประเทศ ประเทศใดมีต้นทุนของการเดินทางท่องเที่ยวถูกกว่า ศักยภาพในการแข่งขันก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน