เมื่อจีนลดถือครอง “พันธบัตรสหรัฐ” แต่การ “ตีจาก” ดอลลาร์ไม่ง่าย

จีน-สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เดือนพฤษภาคม 2022 จีนซึ่งเป็นผู้ซื้อพันธบัตรสหรัฐรายใหญ่อันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยตามข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่าในเดือนดังกล่าวจีนถือครอง 9.808 แสนล้านดอลลาร์ หรือลดลงจากเดือนเมษายนเกือบ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และหากเทียบกับเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว ลดลงเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 9%

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การลดถือครองมีสาเหตุจากดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐสูงขึ้น หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัว และเมื่อเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงที่เกิดจากตัวเร่งอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน เฟดจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยมากและถี่ ทำให้พันธบัตรสหรัฐมีความน่าสนใจลดลง นอกจากนี้ เป็นเพราะจีนต้องการปรับพอร์ตการลงทุนต่างประเทศให้หลากหลายขึ้น

จีนได้เริ่มลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐมาเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน ส่วนญี่ปุ่นซึ่งถือครองพันธบัตรสหรัฐมากสุดอันดับ 1 ก็ได้ลดการถือครองในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน เหลือ 1.212 ล้านล้านดอลลาร์ จากเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ 1.218 ล้านล้านดอลลาร์

การปรับลดของญี่ปุ่นไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐ การลดถือครองถูกมองว่าเป็นการบริหารจัดการการลงทุน แต่สำหรับกรณีของจีนถูกบางฝ่ายนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และสหรัฐร่วมกับสหภาพยุโรปแซงก์ชั่นทางการเงินอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย ทำให้มีการพูดกันว่าสร้างความหวาดกลัวให้ชาติอื่น ๆ ว่าจะถูกสหรัฐเล่นงานด้วยมาตรการเดียวกัน ดังนั้น ต่อไปควรลดการถือครองสินทรัพย์ดอลลาร์ หรือลดการค้าขายด้วยเงินดอลลาร์ ขณะที่เงินหยวนถูกชูขึ้นมาเป็นทางเลือกแทนดอลลาร์

โกลบอลไทมส์ สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ฉวยเอาประเด็นนี้มาดิสเครดิตสหรัฐ โดยชี้ว่าเงินดอลลาร์กำลังสูญเสียแรงดึงดูดจากนักลงทุนต่างประเทศ การเล่นงานประเทศอื่นด้วยการแซงก์ชั่นทางการเงิน ทำให้หลายประเทศกลัวความเสี่ยงที่จะพึ่งพาดอลลาร์มากเกินไป

เจนนาดี โกลด์เบิร์ก แห่งบริษัทหลักทรัพย์ ทีดี ชี้ว่าจีนลดการถือครองพันธบัตรอเมริกันก็เพื่อปกป้องค่าเงินหยวน ซึ่งอ่อนค่าลงเพราะดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จึงต้องชะลอการอ่อนค่าด้วยการขายดอลลาร์และซื้อหยวน

ด้าน เดวิด ดอลลาร์ แห่งสถาบันบรูกกิ้งส์ ชี้ว่า จีนลดการถือครองเพราะไม่พอใจที่สหรัฐใช้มาตรการการเงินแซงก์ชั่นประเทศอื่น

“แต่การที่จีนจะตีจากดอลลาร์สหรัฐก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคำถามคือจีนจะเอาเงินดอลลาร์ที่มีอยู่นับล้านล้านดอลลาร์ไปลงทุนที่ไหนได้อย่างปลอดภัย เพราะไม่มีตลาดขนาดใหญ่ที่จะรองรับเงินนับล้านล้านดอลลาร์ได้เท่าตลาดสหรัฐ”

ที่ผ่านมาเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐ มักมีบางฝ่ายเชื่อว่าจีนถือไพ่เหนือกว่า เนื่องจากเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐสามารถตอบโต้ด้วยการเทขายพันธบัตรสหรัฐออกมา อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงทั้งสองประเทศต่างพึ่งพากันและกันอย่างมาก

หากจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐ ก็จะส่งผลเสียต่อจีนเอง อย่างน้อยก็จะทำให้มูลค่าพันธบัตรสหรัฐที่จีนถืออยู่มีมูลค่าลดลง หรือขาดทุนนั่นเอง

สหรัฐเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของจีน และจีนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างมากมาตั้งแต่ปี 1985 อันหมายถึงจีนมีเงินดอลลาร์สะสมอยู่จำนวนมาก ปัจจุบันจีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดที่จีนเห็นว่าปลอดภัยและมั่นคงที่สุดสำหรับการนำทุนสำรองไปพักไว้ก็คือ “พันธบัตรสหรัฐ” จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมที่ผ่านมาจีนจึงลงทุนซื้อพันธบัตรสหรัฐอย่างต่อเนื่อง จนเคยเป็นผู้ถือครองอันดับ 1

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐออกมาเพื่อตอบโต้เมื่อเกิดข้อพิพาทกับสหรัฐ ผลร้ายจะตกอยู่ที่จีนด้วยเช่นกัน เพราะการเทขายดอลลาร์จะทำให้เงินหยวนแข็ง ซึ่งจีนใช้การส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อน หากเงินหยวนแข็งก็หมายถึงคนจีนจะตกงานมากขึ้นเพราะแข่งขันลำบาก


การพึ่งพากันของสองประเทศเป็นลักษณะคล้ายต่างตอบแทน จีนให้สหรัฐกู้ยืมเงิน (ผ่านการซื้อพันธบัตร) สหรัฐก็มีเงินไปซื้อสินค้าจากจีนอย่างไม่สิ้นสุด ส่วนจีนเมื่อได้รับค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็นำไปลงทุนซื้อพันธบัตรสหรัฐ ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จึงยากที่จีนจะเทขายพันธบัตรสหรัฐออกมาอย่างมีนัยสำคัญ