สหรัฐเปลี่ยนกฎอุดหนุน “อีวี” ผูกเงื่อนไขแหล่งผลิตแบตเตอรี่

รถอีวี

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหรือ “อีวี” (EV) ของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ยังคงตามหลังจีนและสหภาพยุโรป ทั้งในแง่ของปริมาณการใช้งาน และการผลิตอีวีในสหรัฐที่ยังคงพึ่งพิงซัพพลายเชนต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐหันมาเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวีภายในประเทศ พร้อมเงื่อนไขใหม่ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับค่ายรถยนต์ระดับโลก

รอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมนโยบายต่าง ๆ ทั้งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข รวมถึงนโยบายด้านภาษี ภายใต้งบประมาณรวม 430,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนาม

ภายใต้แผนงบประมาณดังกล่าวมีการจัดสรรเม็ดเงินราว 369,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานสะอาด โดยมาตรการหนึ่งในนั้นคือการมอบเครดิตภาษีให้กับชาวอเมริกันที่ซื้อรถยนต์ “อีวี” สามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับรถคันใหม่ และ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับรถอีวีมือสอง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2023

แต่การรับเครดิตภาษีตามมาตรการอุดหนุนนี้จะครอบคลุมเฉพาะการซื้อรถอีวีที่ผลิตหรือประกอบในอเมริกาเหนือเท่านั้น โดยเอพีเปิดเผยรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวว่า เงื่อนไขแรกคือชุดแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถอีวีต้องผลิตหรือประกอบขึ้นในอเมริกาเหนือ ผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิได้รับเครดิตภาษี 3,750 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เครดิตภาษีอีก 3,750 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อจะได้รับก็ต่อเมื่อแบตเตอรี่ในรถอีวีนั้น ผลิตจากแร่ธาตุสำคัญอย่างลิเทียมและโคบอลต์ที่สกัดหรือแปรรูปในสหรัฐ หรือประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ หรือแร่ธาตุที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลในอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ มาตรการเครดิตภาษีนี้ยังจะมอบให้เฉพาะการซื้อรถอีวีที่มีราคาขายไม่เกิน 55,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือรถเอสยูวี รถบรรทุก และรถตู้พลังงานไฟฟ้าที่มีราคาขายไม่เกิน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ซื้อที่มีสถานะโสดต้องมีรายได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี หรือคู่สมรสที่มีรายได้ไม่เกิน 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี

เงื่อนไขเหล่านี้เป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีภายในประเทศ ทั้งในด้านปริมาณการใช้งาน รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอีวีสหรัฐ และการลดพึ่งพาซัพพลายเชนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจาก “จีน”

แต่การกำหนดคุณสมบัติของรถอีวีที่ผู้ซื้อมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีอย่างเข้มงวด กลับสร้างความกังวลให้กับค่ายรถยนต์หลายรายที่มองว่าข้อกำหนดเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการจำหน่ายรถอีวีในสหรัฐ แม้แต่ค่ายรถยนต์สหรัฐเองก็อาจต้องเร่งปรับซัพพลายเชนการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด

“จอห์น บอซเซลลา” ซีอีโอของกลุ่มพันธมิตรนวัตกรรมยานยนต์ (AAI) ในสหรัฐ ประมาณการว่า ขณะนี้อาจมีรถอีวีมากถึง 50 รุ่น จากทั้งหมด 72 รุ่นที่จำหน่ายในสหรัฐ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขได้รับเครดิตภาษี ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างความผิดหวังให้กับลูกค้าในตลาดรถใหม่ และเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับเป้าหมายยอดขายรถอีวีของผู้ผลิตหลายราย

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “เจเนอรัลมอเตอร์ส” หรือ “จีเอ็ม” หนึ่งในผู้นำตลาดรถอีวีและปลั๊ก-อิน ไฮบริดของสหรัฐ ระบุในแถลงการณ์ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับแผนระยะยาวของจีเอ็มในการลงทุนด้านการผลิตภายในประเทศ แม้ว่าข้อกำหนดบางอย่างจะมีความท้าทายและไม่สามารถทำได้เพียงชั่วข้ามคืน

ส่วนค่ายรถยนต์จากเกาหลีใต้อย่าง “ฮุนได” แถลงการณ์ว่า “รู้สึกผิดหวังที่กฎหมายฉบับนี้จำกัดทางเลือกและการเข้าถึงรถอีวีของชาวอเมริกันอย่างรุนแรง” เช่นเดียวกับค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง “โตโยต้า” ที่แทบจะยังไม่มีการผลิตรถอีวีหรือปลั๊ก-อิน ไฮบริดในอเมริกาเหนือ

ปัจจุบันมีรถอีวีเพียงบางรุ่นที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขใหม่ เช่น เทสลา โมเดล วาย เอสยูวี (Model Y SUV) และโมเดล 3 (Model 3) และเชฟโรเลต รุ่นโบลต์ รวมถึงมัสแตง มัค-อี ของ “ฟอร์ด” ที่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากรถยนต์เหล่านี้ประกอบในอเมริกาเหนือ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐเคยมีมาตรการให้เครดิตภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือปลั๊ก-อิน ไฮบริดรายละไม่เกิน 200,000 คัน โดยไม่มีเงื่อนไขการผลิต ซึ่ง 3 ผู้ผลิตใหญ่อย่างเทสลา จีเอ็ม และโตโยต้า ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ จนทำยอดขายเต็มเพดานที่รัฐกำหนดแล้ว แต่ตามมาตรการใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้ผลิตเหล่านี้มีสิทธิที่จะเครดิตภาษีคืนให้กับลูกค้าได้อีกครั้ง หากบริษัทสามารถทำตามข้อกำหนดได้

อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ในอเมริกาเหนือในปัจจุบันยังคงมีขนาดเล็กเกินไป และอาจไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของทั้งอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้มีข้อเรียกร้องให้เพิ่มรายชื่อประเทศที่ผู้ผลิตสามารถนำเข้าส่วนประกอบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข้อวิจารณ์ถึงเงื่อนไขที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดเหล่านี้ว่าขัดต่อข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกหรือไม่