“อินเดีย” มหาอำนาจใหม่ แรงดึงดูดต่างชาติแห่ลงทุน

อินเดีย มหาอำนาจใหม่

สงครามยูเครนและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน กำลังเป็นปัจจัยลบที่ทำให้รัสเซียและจีนสูญเสียแรงดึงดูดทุนต่างชาติ ขณะที่ “อินเดีย” ซึ่งมีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพทางการเมือง ได้กลายมาเป็น “มหาอำนาจใหม่” ในเอเชีย ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในสายตาของนักลงทุนและภาคธุรกิจระดับโลกมากขึ้น

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า นักลงทุนและภาคธุรกิจต่างชาติส่งสัญญาณถึงความสนใจต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจใน “อินเดีย” มากขึ้น ตั้งแต่ภาคการเงิน ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญ อย่างกลุ่มเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์

“โนเอล ควินน์” ผู้บริหารกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง HSBC ระบุว่า ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มั่นคง ส่งผลให้อินเดียอยู่ในตำแหน่งที่ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ “คริสเตียน ซูว์อิง” ซีอีโอของธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Deutsche Bank ก็ออกมาชี้ว่า อินเดียกำลังก้าวขึ้นมาเป็น “มหาอำนาจในเอเชีย” ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีความโดดเด่นในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เช่นเดียวกันกับผู้บริหารของ Citigroup ที่ชี้ว่า อินเดียเป็นหนึ่งในตลาดชั้นนำ มีศักยภาพเป็นฐานในการขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอื่นของโลก

แม้ว่ารัฐบาลอินเดีย นำโดยนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” จะมีนโยบายส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ แต่อินเดียก็ยังคงส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดทุนต่างประเทศ เห็นได้จากการเดินหน้าบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาชาติ อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และออสเตรเลียที่ประสบความสำเร็จในปีนี้ และยังเดินหน้าเจรจาข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรและสภาพยุโรป

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอินเดีย ก็สูงถึง 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้อินเดียกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากต่างประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

ส่วนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัฐบาลอินเดียได้เดินหน้าส่งเสริมการดึงดูดบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ อย่าง ISMC Digital ที่ร่วมกับ Tower Semiconductor บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของอิสราเอล ที่ประกาศสร้างโรงงานผลิตชิปมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรัฐกรณาฏกะของอินเดีย ไปเมื่อเดือน พ.ค.

แม้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดียจะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ และมีคู่แข่งระดับโลกอย่างไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่ “นีล ชาห์” พาร์ตเนอร์บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Counterpoint Research ชี้ว่า ตลาดในประเทศที่ใหญ่โตของอินเดียจะเป็นจุดแข็งที่สามารถรองรับอุปทานชิปภายในประเทศได้

ปัจจัยด้านแรงงานก็เป็นแรงดึงดูดสำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติ ด้วยประชากรจำนวนมหาศาลของอินเดีย ซึ่งมีอายุเฉลี่ยวัยทำงานอยู่ที่ 28.7 ปี เทียบกับจีนที่มีอายุเฉลี่ย 38.4 ปี นอกจากนี้ อินเดียยังมีแรงงานมีทักษะสูงจำนวนมากที่มีศักยภาพด้านการออกแบบชิป ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกถึง 8 รายที่มีฐานการออกแบบชิปในอินเดีย เช่น ซัมซุง เซมิคอนดักเตอร์ส, ไมครอน เทคโนโลยี และ Applied Materials

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินเดียยังได้ประกาศเตรียมเปิดนำร่องใช้งานสกุลเงินดิจิทัล “อี-รูปี” เร็ว ๆ นี้ ก่อนที่จะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบต่อไป เพื่อยกระดับการทำธุรกรรมดิจิทัลในประเทศ ทำให้อินเดียไม่น้อยหน้าไปกว่าจีนที่เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตนเองไปก่อนหน้า และแสดงถึงพัฒนาการและความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีทางการเงินของอินเดีย