รับมือเฟดขยับดอกเบี้ยแตะ 6% ส.ว.มะกันเกรี้ยวกราดใส่ “พาวเวลล์“

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

คำแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารวุฒิสภา เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2023 ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายอาจสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงรุนแรง โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 574.98 จุด หรือ 1.72% เอสแอนด์พี 500 ลดลง 62.05 จุด หรือ 1.53% แนสแดคปรับลง 145.40 จุด หรือ 1.25%

ประธานเฟดระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดแข็งแกร่งกว่าที่คาด แสดงให้เห็นว่า “การต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น” เพราะในหมวดหมู่สำคัญ เช่น อาหารและพลังงานมีสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีเพียงตลาดบ้านเท่านั้นที่เห็นความก้าวหน้าของการชะลอตัวชัดเจน

การแตกตื่นของนักลงทุนเกิดจากการตีความคำพูดของประธานเฟด ที่ชวนให้เข้าใจว่า 1.อัตราดอกเบี้ยสูงสุดหรือขั้นสุดท้าย จะสูงกว่าที่เฟดเคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ในช่วง 5.1% 2.การปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเพียง 0.25% เป็นครั้งแรกในการประชุมรอบที่แล้วของเฟดจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวถ้าหากเงินเฟ้อยังคงร้อนแรงต่อไป

จากถ้อยแถลงดังกล่าวของประธานเฟด ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายจะขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 5.5-5.75% และเชื่อว่าในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ เฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.5% อีก จากเดิมที่ประเมินว่าน่าจะขึ้นเพียง 0.25% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2

การแสดงท่าทีจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประธานเฟดถูกวุฒิสมาชิกบางคน โดยเฉพาะ “เอลิซาเบธ วอร์เรน” จากพรรคเดโมแครต วิพากษ์วิจารณ์ด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราดว่า ถ้าคุณสามารถพูดโดยตรงกับชาวอเมริกัน 2 ล้านคน ที่ตอนนี้กำลังมีงานทำที่ดีพอใช้ แต่คุณอาจทำให้พวกเขาตกงานในปีหน้า คุณจะบอกพวกเขาว่าอย่างไร

“ท่านประธานพาวเวลล์ คุณกำลังเดิมพันชีวิตประชาชน คุณอ้างว่ามีหนทางเดียวในการคุมเงินเฟ้อ นั่นคือทำให้คน 2 ล้านคนตกงาน เราต้องการเฟดที่จะต่อสู้เพื่อครอบครัวชาวอเมริกัน ถ้าหากคุณไม่ทำหน้าที่นั้น เราจำเป็นต้องมีคนอื่นมาทำแทน”

ขณะที่พาวเวลล์ตอบว่า ผมจะอธิบายต่อประชาชนในวงกว้างว่าตอนนี้เงินเฟ้อสูงสุดขั้วและมันทำร้ายประชาชนที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศนี้อย่างมาก มันทำร้ายประชาชนทั้งหมด ทุกคนลำบากหมด ไม่ใช่แค่ 2 ล้านคน เฟดเพียงใช้มาตรการที่มีอยู่เพื่อดึงเงินเฟ้อลง “ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีมั้ย ถ้าหากเราละทิ้งหน้าที่และปล่อยให้เงินเฟ้อสูง 5-6%”

“เอลิซาเบธ วอร์เรน” วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางของประธานเฟดอยู่บ่อยครั้ง ครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรก ทั้งนี้ วอร์เรนและนักการเมืองพรรคเดโมแครตส่วนหนึ่ง ได้เรียกร้องให้เฟดผ่อนคลายเป้าหมายเงินเฟ้อลงบ้าง จากเดิมที่จะกดให้เหลือเพียง 2% โดยให้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายที่ตึงตัวเกินไปเพราะเกรงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย

โดยในเดือนที่แล้ว วุฒิสมาชิก จอห์น ฮิกเคนลูเปอร์ ถึงกับส่งจดหมายไปถึงพาวเวลล์ ขอให้หยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ในขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นเป็นองค์ประกอบใหญ่ของเศรษฐกิจถึง 2 ใน 3

ริก ไรเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนตราสารหนี้ของแบล็กร็อก บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก ประเมินว่ามีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดไปอยู่ที่ 6% และตรึงไว้ในระดับนั้นเป็นเวลานานเพื่อชะลอเศรษฐกิจและกดเงินเฟ้อลงตามเป้าหมาย 2%

“ตอนนี้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและฟื้นคืนสภาพได้เร็วกว่าที่คาด เห็นได้จากการจ้างงานและการบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจในทุกวันนี้ไม่ได้อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป ไม่เหมือนหลายทศวรรษที่แล้ว ดังนั้นจึงกลายเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับเฟด”

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ คาดหมายว่า ในครั้งต่อไปเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ขณะที่ข้อมูลของซีเอ็มบี กรุ๊ป ชี้ว่ามีโอกาสถึง 73.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5%