จีนงัดความเป็น “รากเหง้า” เดียวกัน กล่อม “เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น” ตีจากสหรัฐ

จีนงัดความเป็น ‘รากเหง้า’
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ล่าสุดซึ่งถูกกระตุ้นโดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการแยกขั้วเด่นชัดขึ้นระหว่างซีกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกากับซีกของจีน ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน

ผลที่ตามมาคือพันธมิตรของแต่ละฝ่ายกระชับสัมพันธ์กันแน่นกว่าเดิม ดังกรณีของจีนกับรัสเซีย เช่นเดียวกับพันธมิตรของซีกตะวันตก ดังกรณีของ “เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น” ที่กระชับสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ขณะเดียวกันเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเอง ก็กลับมาซ่อมแซมความสัมพันธ์กันเองหลังจากระหองระแหงกันมานาน เนื่องจากกลัวภัยคุกคามในภูมิภาคที่อาจเกิดจากประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะหลังจากเกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธบ่อยครั้ง

ในเอเชียนั้น ความหวาดระแวงอิทธิพลจีนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถูกสหรัฐอเมริกาจับตามองใกล้ชิดและพยายามป้องกันการแผ่อิทธิพลของจีน ขณะเดียวกันหลายชาติในเอเชียก็ไม่วางใจจีนเช่นกัน โดยเฉพาะชาติที่มีข้อพิพาทกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหรือเขตแดนกับจีน

สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ยังเพิ่มความเข้มข้นให้กับปัญหาด้านการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี โดยที่พันธมิตรของอเมริกาในเอเชียอย่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ได้ให้ความร่วมมือกับอเมริกาในการควบคุมการส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จีนส่งเสียงเรียกร้องไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในทำนองว่า “ชาติเอเชียควรร่วมมือกันสร้างความรุ่งเรืองให้กับเอเชียและโลก” แทนที่จะไปสนับสนุนบางชาติให้ผูกขาดอำนาจและรังแกประเทศอื่น

เสียงเรียกร้องนี้ของจีนเห็นได้จากคำกล่าวเปิดงานประชุมประจำปีความร่วมมือไตรภาคีระหว่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ของ “หวัง อี้” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่เมืองชิงเต่า เรียกร้องให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นร่วมมือกับจีนเพื่อสร้างความรุ่งเรืองด้วยกัน ฟื้นพลังชีวิตให้กับเอเชียซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโลก

“พวกอเมริกันและยุโรปไม่สามารถแยกแยะได้หรอกว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างกันอย่างไร ไม่ว่าคุณจะย้อมผมเป็นสีทองแค่ไหน หรือทำจมูกให้โด่งเพียงใด คุณก็ไม่มีทางกลายเป็นคนอเมริกันหรือยุโรปได้เลย คุณไม่มีทางกลายเป็นชาวตะวันตก เราต้องรู้ว่ารากเหง้าของเราอยู่ที่ใด”

คำกล่าวของ นายหวัง อี้ เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้ทั้ง 3 ประเทศกลับมารวมกลุ่มกันใหม่ ส่งเสริมคุณค่าเอเชีย มีความเป็นอิสระ รักษาเอกภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ไม่กลับไปสู่สงครามเย็น ต้องไม่มีการบีบบังคับหรือข่มเหงรังแกเพื่อมีอำนาจเหนือคนอื่น

สำหรับความร่วมมือไตรภาคีดังกล่าว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 เพื่อส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน ความรุ่งเรืองร่วมกันและการมีวัฒนธรรมร่วมกันของทั้ง 3 ชาติ

ในห้วงเวลาเดียวกัน “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน กล่าวต่อที่ประชุมความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ในกรุงปักกิ่ง ว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะส่งเสริมความเติบโตของเศรษฐกิจ จีนยินดีที่จะร่วมมือกับโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในการทำให้ก้อนเค้กใหญ่ขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วโลก

ผู้นำจีนกล่าวด้วยว่า ตนต่อต้านการแยกจากกัน การปกป้องการค้า การแซงก์ชั่นเพียงฝ่ายเดียว ตลอดจนการเหมารวมนิยามของความมั่นคงแห่งชาติ

สำหรับความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการเมือง ความมั่นคงและการค้า สมาชิกประกอบด้วย จีน อินเดีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ปากีสถาน อิหร่าน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน โดยมีซาอุดีอาระเบียได้รับเชิญให้เป็นผู้สังเกตการณ์และหุ้นส่วนเจรจา

คำกล่าวของผู้นำจีนมีขึ้นก่อนที่ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ จะเดินทางไปเยือนจีนเพียง 2 วัน เพื่อสร้างความเข้าใจกับจีนในหลายประเด็น โดยมีหลักการว่าสหรัฐยังต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีด้านเศรษฐกิจและไม่ได้ต้องการแยกจากจีน แต่ประเด็นหลักที่สหรัฐจะยึดมั่นคือปกป้องสิทธิมนุษยชนและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐผ่านมาตรการตอบโต้จีนแบบเจาะจงเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลกฎหมายต่อต้านการจารกรรมฉบับใหม่ของจีน

พร้อมกันนี้ จีนยังได้ประกาศควบคุมการส่งออกโลหะแกลเลียมและเจอร์มาเนียม มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เพื่อตอบโต้สหรัฐ ทั้งนี้ ผู้ที่จะส่งออกจะต้องขอใบอนุญาตจากทางการเสียก่อน และเปิดเผยรายละเอียดของผู้ซื้อในต่างประเทศด้วย โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ