สื่อนอกมอง “ไทย” อย่างไร เมื่อ “พิธา” ตัวแทนพรรคชนะเลือกตั้งยังไม่ได้เป็นนายกฯ

สื่อต่างประเทศ พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ

จากก่อนเลือกตั้งมาจนถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเวลาหลายเดือนที่สื่อต่างประเทศติดตามสถานการณ์การเมืองไทยกันอย่างต่อเนื่อง และบางสำนักติดตามอย่างใกล้ชิด   

สำหรับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ในภาพรวมสื่อต่างชาติมีการรายงานข่าวการโหวตนายกของไทยตั้งแต่คืนวันที่ 12 กรกฎาคม หรือเช้าวันที่ 13 กรกฎาคม 

โดยสื่อทุกสำนักที่รายงานข่าวมีการอธิบายแบ็กกราวนด์ให้ผู้อ่านทราบว่า เหตุใดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งที่รวบรวม ส.ส.ได้ถึง 313 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาจึงเป็นไปได้ยาก และเมื่อทราบผลการลงมติแล้ว สื่อต่างประเทศก็มีการรายงานผลพร้อมอธิบายแบ็กกราวนด์อีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจการรายงานข่าวการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในสื่อต่างชาติหลายสำนักว่า สื่อต่างชาติรายงานและมีมุมมองต่อการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร

 

Advertisment

Nikkei Asia : ความตึงเครียดระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับฝ่ายต้องการความเปลี่ยนแปลง 

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) เป็นสื่อต่างประเทศที่ให้พื้นที่กับการเลือกตั้งของประเทศไทยมากที่สุด โดยเปิดเซกชั่นพิเศษ “THAI ELECTION” รายงานข่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่ราว 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง คาดว่าเนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยมาก สื่อญี่ปุ่นจึงจับตาการตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยซึ่งจะมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนของต่างชาติในไทย 

ในเวลา 17.32 น. วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานข่าวชิ้นหนึ่งโดยพาดหัวข่าวว่า “พิธาย้ำเรื่องปฏิรูปสถาบันก่อนโหวตนายกฯประเทศไทย” และต่อมาเมื่อทราบผลการแข่งขันก็มีอีกชิ้นหนึ่ง พาดหัวว่า “พิธาไม่ได้รับเสียงข้างมากในการโหวตนายกฯไทย” 

“นิกเคอิ เอเชีย” บอกว่า กระบวนการลงมติเมื่อครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับขบวนการประชาชนซึ่งต้องการจะฟื้นฟูการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

“ผลการลงมติในวันพฤหัสบดีทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอย่างน้อยอีกหนึ่งสัปดาห์ ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นตกต่ำซึ่งเริ่มหลังการเลือกตั้ง”  

Advertisment

“นักวิเคราะห์และกลุ่มการค้าต่าง ๆ เตือนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ หากการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลซึ่งมีกำหนดในเดือนตุลาคมนี้ล่าช้าออกไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์การบริโภคและการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ลง” 

Nikkei Asia

 

The New York Times : พันธมิตรของรัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง

เดอะ นิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) สื่อใหญ่จากสหรัฐอเมริกามีรายงานขนาดยาว เผยแพร่ในเวลา 18.03 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ตามเวลาประเทศไทย โดยพาดหัวว่า “พันธมิตรของรัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งของไทย ทำให้ฝ่ายค้านอันดับต้นตกราง” 

รายงานนี้มีการสัมภาษณ์อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในไทย 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบรรยายสถานการณ์การเมืองไทยว่า “นี่คือเดจาวู” และอธิบายว่า การเมืองไทยอยู่ในวงจรซ้ำ ๆ คือ การเลือกตั้ง การประท้วง การรัฐประหาร และการปราบปรามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 

เดอะ นิวยอร์กไทม์ส มองว่า แนวร่วมฝั่งก้าวหน้าของพิธาอาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความสูญเสีย โดยเฉพาะสมาชิกพรรคเพื่อไทยอาจพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ซึ่งนำโดยหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

The New York Times

 

เดอะ นิวยอร์กไทม์ส บอกว่า การเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลของไทยกำลังถูกจับตามองใกล้ชิด เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคที่หลายประเทศหันกลับไปใช้ระบอบเผด็จการอีกครั้ง ประเทศไทยเคยเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของสหรัฐ แต่ได้ขยับเข้าใกล้จีนมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน 

“เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศไทยถูกครอบงำโดยสองขั้วอำนาจทางการเมือง ขั้วหนึ่งนำโดยกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มทหาร อีกขั้วหนึ่งคือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตเจ้าพ่อกิจการโทรคมนาคมและนักการเมืองสายประชานิยม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารปี 2549”  

เดอะ นิวยอร์กไทม์ส บอกอีกว่า พรรคก้าวไกลมีพลังงานในแบบเดียวกับที่ขบวนการประชานิยมของนายทักษิณเคยทำ และความล้มเหลวในการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ดูเหมือนจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มนิยมเจ้าในประเทศไทยที่ขัดขวางนักการเมืองที่ได้รับความนิยม  

 

The Guardian : ผู้ชนะการเลือกตั้งถูกขัดขวางไม่ให้เข้าสู่อำนาจ

เดอะ การ์เดียน (The Guardian) จากอังกฤษรายงานว่า “ผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯของประเทศไทยถูกกีดกันจากอำนาจ” โดยอธิบายในเนื้อหาว่า หัวหน้าพรรคการเมืองในประเทศไทยที่ชูเรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมถูกขัดขวางไม่ให้เข้าสู่อำนาจ โดยการลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งรวมถึงวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดยทหาร “เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะกระตุ้นให้เกิดการประท้วงบนท้องถนน”

เดอะ การ์เดียน อ้างความเห็นของ รศ.ดร.พญชฎา สิริวัณณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์แและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลว่า มีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำที่ลี้ภัยอยู่ จะเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคในครั้งที่สองหรือสาม หากพิธาได้รับการเสนอชื่ออีกครั้ง เขาก็ไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนมากพอ

The Guardian

 

The Independent : ม.112 คือความท้าทายหลักของก้าวไกล คาดเศรษฐาได้รับเสนอชื่อในรอบต่อไป

ดิ อินดิเพนเดนต์ (The Independent) ประเทศอังกฤษ รายงานข่าวด่วนในเวลาประมาณ 18.00 น. โดยพาดหัวข่าวว่า “ผู้นำหัวก้าวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ล้มเหลวในการลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกฯคนต่อไปของประเทศไทย” ในเวลาต่อมาข่าวนี้ถูกเปลี่ยนพาดหัวเป็น “รัฐสภาไทยลงมติไม่รับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำหัวก้าวหน้า เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” 

ในเนื้อข่าวมีเนื้อหาส่วนที่อธิบายว่า นโยบายแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ (ม.112) เป็นความท้าทายสำคัญของพรรคก้าวไกล 

นอกจากนั้น ดิ อินดิเพนเดนต์ รายงานว่า คาดว่าเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่อันดับ 2 ในพรรคแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะได้รับการเสนอชื่อในการโหวตรอบต่อไป

The Independent

 

DW : ประเทศที่เจอรัฐประหารมานับสิบครั้ง อาจเผชิญกับความชะงักงันหลายสัปดาห์ 

ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (DW) สื่อเยอรมันรายงานโดยพาดหัวข่าวว่า “ประเทศไทย : ตัวเต็ง พิธา ล้มเหลวในการชิงตำแหน่งนายกฯ” ในเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า พิธาล้มเหลวในการเสนอชื่อเพื่อลงมติเห็นชอบเป็นนายกฯ ครั้งแรก พรรคแนวร่วมของเขาต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเขาอีกครั้งในการลงคะแนนเสียงครั้งต่อไป ในวันที่ 19 กรกฎาคม หรือจะเสนอชื่อคนอื่น ซึ่งคนนั้นน่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย พันธมิตรทางการเมืองอันดับต้น ๆ ของพรรคก้าวไกล 

“พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายคนในปีนี้ รวมถึงแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีนักประชานิยม ที่ถูกโค่นอำนาจในรัฐประหารปี 2549”

“ประเทศซึ่งประสบกับการรัฐประหารมานับสิบครั้ง และประสบกับความไม่มั่นคงทางการเมืองมาเป็นประจำ ในศตวรรษที่ผ่านมา อาจเผชิญกับภาวะชะงักงันหลายสัปดาห์ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ตามมา หากต้องจัดการประชุมหลายครั้งจนกว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด” 

DW

 

Reuters : จุดพลิกผันล่าสุดของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจตลอด 2 ทศวรรษที่เต็มไปด้วยรัฐประหาร

รอยเตอร์ (Reuters) รายงานในเวลา 21.31 น. พาดหัวข่าวว่า “ไม่ยอมแพ้ – พิธาให้คำมั่นจะสู้ต่อไปหลังจากการเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ” 

นอกจากรายงานผลการลงมติของสภาแล้ว รอยเตอร์รายงานว่า ความพ่ายแพ้เป็นระเบิดครั้งล่าสุดในสองวันอันร้อนระอุสำหรับพิธา มีการร้องเรียนทางกฎหมายเขา 2 เรื่องในวันก่อนการลงมติ รวมคำแนะนำให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

ซึ่งรอยเตอร์ยังบอกอีกว่า “คดีเหล่านี้เป็นจุดพลิกผันล่าสุดในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจตลอด 2 ทศวรรษที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร การแทรกแซงของศาล การยุบพรรค และการประท้วงบนท้องถนนที่มีการใช้ความรุนแรงในบางครั้ง” 

รอยเตอร์กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ดัชนี SET ลดลงแล้ว 11% ในปีนี้ สวนทางกับดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 5% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเป็น 5 เดือนติดต่อกัน นับถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 66 โดยมูลค่าขายสุทธิกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ 

Reuters

 

South China Morning Post : การตั้งรัฐบาลล่าช้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ล้าหลังเพื่อนบ้าน

ด้าน “เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์” (South China Morning Post) จากฮ่องกง รายงานข่าว พาดหัวว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ยอมแพ้ หลังจากความล้มเหลวในการโหวตนายกฯ” 

SCMP

SCMP บอกถึงผลกระทบว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของไทย เศรษฐกิจไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้าหลังเพื่อนบ้านในแง่ของการเติบโตทั้งในระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโควิด ความเสี่ยงเพิ่มเติมในตอนนี้คือการประท้วงของผู้สนับสนุนพิธา ซึ่งอาจทำให้การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดียวของไทยที่ทำงานเต็มสูบในตอนนี้ต้องเสียหาย