วิกฤตเศรษฐกิจ ต้อนรับผู้นำใหม่อาร์เจนตินา

ฆาเวียร์ จี. มีเล
Photo by Luis ROBAYO / AFP
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อาร์เจนตินา เพิ่งจะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเมื่อ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลลัพธ์อย่างไม่เป็นทางการก็คือ นักการเมืองเสรีนิยมหน้าใหม่ที่เป็นทั้งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์, นักเขียนและคอมเมนเตเตอร์ทางด้านเศรษฐกิจผ่านหน้าจอโทรทัศน์อย่าง ฆาเวียร์ จี. มีเล (Javier Gerardo Milei) ได้รับชัยชนะ ด้วยสัดส่วน 55.8 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงทั้งหมด ในขณะที่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง แซร์จิโอ มัสซา อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้คะแนนเสียง 44.2 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ มีเล จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยมีวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของอาร์เจนตินา รอคอยให้การต้อนรับอยู่ตรงหน้า

เศรษฐกิจอาร์เจนตินาในเวลานี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก อัตราเงินเฟ้อในขณะที่ประชาชนออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้นสูงจนเหลือเชื่อถึงกว่า 140 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่หยุดอยู่แค่นี้
อีกด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเปโซของอาร์เจนตินาตกอยู่ในสภาพผันผวนและสับสนอย่างหนัก เพราะมีอัตราอ้างอิงอยู่ถึง 3 อัตรา นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นของทางการ ซึ่งกำหนดไว้ตายตัวที่ 350 เปโซต่อดอลลาร์แล้ว ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนใน “ตลาดมืด” ซึ่งอยู่ที่ราว 900 เปโซต่อดอลลาร์ แถมพกด้วย “อัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ” ซึ่งกำหนดออกมาให้ใช้สำหรับบางเซ็กเตอร์
ของเศรษฐกิจ

อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการนั้น หลายคนเชื่อว่าจะคงอยู่ได้ในอีกไม่นาน ก็จะอ่อนค่าลงไปอีกครั้ง

ปัญหาใหญ่อีกปัญหาของอาร์เจนตินาก็คือ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ธนาคารกลางของอาร์เจนตินาไม่มีเงินดอลลาร์อยู่ในมือเลยด้วยซ้ำ ยกเว้นดอลลาร์ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่นำเงินมาฝากไว้กับธนาคารกลาง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์สำรองตามกฎธนาคาร และในความเป็นจริง ดอลลาร์ที่เป็นเงินตามเกณฑ์สำรองนี้ กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการอื่นได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลอาร์เจนตินาถึงกับต้องหันไปชำระหนี้เป็นเงินหยวนหากโอกาสอำนวย เพราะได้ทำความตกลงสวอปไว้กับจีน ซึ่งช่วยให้อาร์เจนตินา
สามารถแลกเปโซกับหยวนได้ ช่วยรักษาเงินดอลลาร์จริงเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น การเลือกที่จะชำระหนี้ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นเงินหยวน เป็นต้น

ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศก็อยู่ในสภาพหนักหนาสาหัส ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาแล้งจัดต่อเนื่อง ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ในขณะที่การนำเข้าก็ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก ตามข้อมูลของไอเอ็มเอฟ บรรดาผู้นำเข้าสินค้ามายังอาร์เจนตินา จำเป็นต้องก่อหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 15,000 
ล้านดอลลาร์ เพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายให้ได้อย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว อาร์เจนตินาไม่มีหนทางใด ๆ ที่จะชำระหนี้อีก 2 ก้อนโตอย่าง หนี้ในตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศรวมแล้วมากถึง 67,000 ล้านดอลลาร์ และหนี้อีก 45,000 ล้านดอลลาร์ที่กู้ยืมมาจากไอเอ็มเอฟ ซึ่งถึงกำหนดต้องชำระในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่า สิ่งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนลำดับแรกสำหรับผู้นำใหม่อาร์เจนตินาก็คือจำเป็นต้องหาหนทางลดอัตราเงินเฟ้อของประเทศลงให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและยิ่งยากมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อรัฐบาลอาจจำเป็นต้องลดค่าเงินเปโซลงไปอีก ที่จะยังผลให้เงินเฟ้อขยับสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ถัดมารัฐบาลใหม่จำเป็นต้องตัดทอนงบประมาณรายจ่ายลงมหาศาล พร้อม ๆ กับขึ้นภาษีเพื่อหารายได้เข้าคลังให้มากที่สุด เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณที่สูงราว 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีลง ถึงแม้มาตรการรัดเข็มขัดเช่นนี้จะส่งผลต่อประชาชนอย่างรุนแรง แต่ก็เป็นหนทางเยียวยาเงินเฟ้อหนทางเดียวที่หลงเหลืออยู่ เมื่อประเทศไม่มีศักยภาพในการกู้ยืมอีกต่อไปแล้ว

สุดท้าย รัฐบาลใหม่ต้องจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นอัตราเดียวเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ พร้อมกันนั้นก็ต้องเริ่มเจรจาทำความตกลงกับไอเอ็มเอฟ
ใหม่ หลังจากโปรแกรมที่เคยตกลงกันไว้ในยุครัฐบาลเดิมนั้น เข้ารกเข้าพงไปเรียบร้อยแล้ว

รัฐบาลชุดใหม่ของอาร์เจนตินา จำเป็นต้องหวนกลับไปเจรจาทำความตกลงกับไอเอ็มเอฟ เพื่อให้ปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่มาให้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีเงินที่จะไปชำระหนี้เดิมที่กู้จาก
ไอเอ็มเอฟอีกต่อไปแล้ว