จักรพงษ์ แสงมณี : นโยบายการทูตยุคใหม่ พาไทยมีอนาคตในโลกที่แตกแยก

จักรพงษ์ แสงมณี

การทูตและงานของกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญมากในฐานะด่านหน้าที่ต้องรับและรุกก่อนหน่วยงานไหน ๆ ในทุกสถานการณ์ 

แล้วในโลกที่แบ่งขั้ว-แตกแยกมากขึ้น เป็นความท้าทายทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมิติทางเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน การทูตของไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป เพื่อให้ไทยมีโอกาสและมีอนาคต 

จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ฉายภาพตอบคำถามนี้ให้ฟังบนเวทีสัมมนา “Thailand 2024 The Great Challengers เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ที่จัดโดยมติชน ในหัวข้อ “เปิดโฉมอุตสาหกรรม-การทูตยุคใหม่ ในมุมมอง รมต. New Gen” ร่วมกับอีกหนึ่งรัฐมนตรีรุ่นใหม่ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินรายการโดย บัญชา ชุมชัยเวทย์

Q : ในภาวะที่โลกแบ่งขั้วกันรุนแรงขึ้น กระทรวงการต่างประเทศปรับนโยบายอย่างไร ให้ประเทศไทยมีอนาคตในเวทีโลก  

จักรพงษ์ : ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็น “เด็กดี” มาตลอด เราอยู่ในห้องเรียนที่มีคนอยู่เยอะ เรามีเพื่อนเยอะ แต่เราไม่มีความสำคัญในเวทีโลก บทบาทใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นต่อจากนี้ คือ เราจะต้องมีจุดยืนที่เป็นกลาง แต่เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เราต้องอยู่ท่ามกลางอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง และความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องสงครามการค้า สงครามอิสราเอล หรือการเลือกตั้งสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ทุกอย่างจะมีความสัมพันธ์กันหมด และจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยทั้งหมด 

บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในอนาคตที่จะถึงนี้ เราจะเป็นฟรอนต์ไลน์ เราต้องเป็นคนเจรจาให้ก่อน เราจะเป็นคนไปเปิดประตู-ไปเคาะประตูให้ทุกคนเห็นว่าเราพร้อมที่จะเปิดประเทศ และรับการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เราต้องประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และทุกกระทรวง เพื่อจะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล 

Q : ความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ มีอะไรที่อยากทำให้ชัดเจนและต่อเนื่องที่สุด 

จักรพงษ์ : เราต้องกลับมามีที่ยืนในเวทีโลกก่อน ถ้าเรามีเวทีแล้วทุกคนก็จะอยากค้าขายกับเรา speech แรกของท่านนายกฯที่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อเดือนกันยายน ท่านบอกว่า “ประเทศไทยเปิดแล้ว” 

เมื่อวานนี้ผมได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผมบอกเลยว่า เรื่องการทูต กระทรวงการต่างประเทศทำได้ดีมาตลอด เรามีมิตรท่ัวโลก เรามี 99 สถานทูตและสถานกงสุลทั่วโลก เรามีเพื่อนเยอะ แต่วันนี้เราจะมาเพิ่มเรื่องการค้า เพิ่ม trade volume ผมไม่ได้ต้องการให้เขาซื้อของเราอย่างเดียว ผมไม่ได้ต้องการให้เขามาลงทุนในประเทศเราอย่างเดียว แต่ต้องเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่จะส่งออกและไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งก็เป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศ การที่บริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศ บริษัทเหล่านั้นเขาทำการตรวจสอบแน่นอนว่าเขาไปแล้วเขาคุ้มค่า ไปแล้วมีโอกาสเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำเงินกลับประเทศไทยได้ เพราะมีผลกำไร 

จักรพงษ์ แสงมณี

Q : ตั้งเป้าชัดเจนเป็นตัวเลขแค่ไหน อย่างไร 

จักรพงษ์ : อย่างเมื่อวานนี้ก็มีการคุยกับทางแอฟริกาใต้ว่า ภายในสิ้นปีหน้า เราควรจะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 กว่าล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแน่นอน แต่ด้วยความที่ประเทศเขาก็มีโอกาสเยอะในเรื่องสินแร่เหล็ก แร่หลายอย่าง เราก็สามารถต่อยอดในแง่อุตสาหกรรมของเราได้ และแอฟริกาใต้เป็นเหมือน gateway (ประตู) ให้เราในทวีปแอฟริกา ถ้าเราสามารถเข้าไปลงทุนผลิตที่แอฟริกาใต้ได้ สามารถพานักลงทุนของเราไปอยู่ตรงนั้นได้ มันก็เป็น gateway ของทวีป  

และผมไปอีกประเทศหนึ่งมา คือ ยูกันดา เขาเป็นประเทศที่ต้องการเทคโนโลยี ต้องการองค์ความรู้เรื่องเกษตรอีกเยอะ ตอนนี้มีบริษัทไทยไปอยู่ที่นั่นและประสบความสำเร็จแล้ว เราก็ต้องพยายามต่อยอดไปอีก ทางยูกันดาเองก็ชอบประเทศไทย เพราะเขารู้สึกว่าเป็นประเทศที่มีการแลกเปลี่ยนกันมาเยอะ ทั้งเรื่องเกษตร เรื่องประมง เขาอยากได้ความรู้จากเรา  

Q : การเปลี่ยนผู้นำสูงสุดของประเทศที่ทรงอิทธิพลของโลก และประเทศที่ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาในด้านความสัมพันธ์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศมองเรื่องนี้อย่างไร ? 

จักรพงษ์ : มีความท้าทายสูงมาก ตั้งแต่เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องสงคราม ทุกอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศต้องปรับตัวในทุกสถานการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เรามีการทำ-มีการคุยเรื่องแผนแต่ละอย่างว่า ในสมมติฐานว่าถ้าพรรครีพับลิกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ถ้าพรรคเดโมแครตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร เพราะต่างฝ่ายก็มีนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน 

อย่างเรื่อง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่เราลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็จะต้องติดตามว่าจะมีการดำเนินการต่อไหม ความร่วมมือต่าง ๆ จะยังคงมีอยู่ไหม สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายมาก เพราะเราจะต้องปรับ เราต้องได้ข้อมูลและเราต้องมาแชร์กับทุกภาคส่วนของรัฐบาลว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำยังไง กระทรวงพาณิชย์จะส่งออกยังไง เราต้องให้ความสำคัญว่าเมื่อแต่ละประเทศมีผู้นำในวาระใหม่แล้วผู้นำของเขาจะพาประเทศไปในทิศทางใด อย่างกรณีไต้หวันที่เพิ่งได้ผู้นำใหม่ ก็ต้องเฝ้าดูต่อไปว่านโยบายของไต้หวันกับจีนจะเป็นอย่างไร 

Q : สำหรับสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าใครจะมา คิดว่าไทยต้องเดินแผนเชิงรุกอย่างไรกับประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก 

จักรพงษ์ : แน่นอนว่าเราไม่เป็นคู่ขัดแย้งใครแน่นอน ด้วยสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย เรามีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 20 กว่า ๆ ของโลก เรามีประชากรประมาณ 70 ล้านคน เราถือว่าเป็นประเทศที่กลางค่อนข้างเล็ก ในเรื่องเศรษฐกิจเราคงต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ 

อย่างเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ ปัจจุบันเรามี FTA ทั้งหมด 14 ฉบับ ตอนนี้เราแพลนแล้วกับกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า เราต้องมีการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเพิ่มขึ้นอีก 12 ฉบับ ซึ่งเรามีโร้ดแม็ปเรียบร้อยแล้วว่าช่วงไหนเราจะเริ่มอะไร-อย่างไร 

จากที่ท่านนายกฯไปต่างประเทศไปเชิญนักลงทุนเข้ามา สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนสนใจก็คือเรามี FTA กับประเทศใดบ้าง ขอเรียนว่า สหภาพยุโรป (EU) คงจะเป็น FTA หลักที่เราจะทำก่อน และผมเพิ่งกลับมาจากแอฟริกาใต้ ก็ได้มีการคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของแอฟริกาใต้ว่าเราอยากทำ FTA กับสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Customs. Union : SACU) ซึ่งแอฟริกาใต้เป็นพี่ใหญ่ เขาก็ตอบรับมาด้วยดีว่า ถ้าเราศึกษาผลกระทบของเราเรียบร้อยแล้ว ศึกษาผลประโยชน์ทุกอย่างแล้ว เรายื่นสมัครไปที่เลขาธิการของ SACU เขาก็จะพิจารณาทันที 

จักรพงษ์ แสงมณี

Q : FTA จำนวน 12 ฉบับตั้งเป้าหมายการดำเนินการไว้อย่างไรบ้าง 

จักรพงษ์ : อย่าง EU ที่เราให้ความสำคัญที่สุด เราแพลนว่าจะให้สำเร็จภายใน 18 เดือน ซึ่งเป็นไปได้ เนื่องจากสมัยนี้ไม่ต้องใช้วิธีการเจรจาแบบพบเจอตัวจริงกันทุกครั้งเหมือนเมื่อก่อน ครั้งนี้เราอยากให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้สามารถร่นระยะเวลาได้ ทางกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงการต่างประเทศเราก็คุยกันแล้วว่าเป็นไปได้ 

ส่วนแอฟริกาใต้ คงต้องขอรอดูผลกระทบทุกอย่างให้เสร็จก่อน แล้วหลังจากนั้นเราจะเปิดการเจรจา จะส่งคำขอไปทันที นอกจากนั้น เรายังมีกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) และยังมีออสเตรเลีย และเรายังต้องยกระดับข้อตกลงกับเกาหลีใต้ และที่แพลนไว้ว่าอยากจะเจรจาคือภูฏาน 

Q : ส่วนหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศจะลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของประชาชนได้ คือ การทำให้การเดินทางไปต่างประเทศทำได้ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่ายและกระบวนการเยอะเกี่ยวกับพาสปอร์ตและวีซ่า น่าเป็นสิ่งที่คนไทยอยากได้ กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไรบ้าง 

จักรพงษ์ : ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา เราได้ฟรีวีซ่าให้กับจีน คาซัคสถาน ไต้หวัน และอินเดีย นี่คือขั้นแรกก่อน การที่เราฟรีวีซ่าให้กับกลุ่มนี้ ในทางกลับกันอีกไม่กี่วันนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศจีนก็จะมาเจรจาการยกเว้นวีซ่าถาวรแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกัน เท่ากับว่าการเดินทางระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนในอนาคตตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป เราไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว 

ส่วนประเทศอื่น ๆ เราก็จะมีการดำเนินการ อย่างที่ไปประเทศแอฟริกาใต้เพิ่งกลับมา ก็มีหลายประเทศที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยว่าอยากจะฟรีวีซ่ากับเรา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องเช็กทุกอย่างให้เรียบร้อย แล้วถ้าโอเคก็จะสามารถฟนีวีซ่ากันและกันได้ 

ส่วนการขยายโอกาสทางธุรกิจ อย่างที่เราทราบกันว่าท่านนายกไปเมืองนอกแล้วน่าจะประมาณ 10 ประเทศในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ท่านไป ท่านพานักธุรกิจไทยไปเจอนักธุรกิจที่นู่นด้วยเพื่อขยายโอกาสให้กับนักธุรกิจไทย เราทำการจับคู่เจรจาธุรกิจให้เขาคุยกัน แล้วเขาเกิดปัญหาอะไรก็มาบอกเรา เราจะพยายามหาทางออกให้ รัฐอยู่ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้กับภาคเอกชน เราเสริมสร้างพลัง (empower) ให้ภาคเอกชน ให้เขาออกไปเพื่อสร้างโอกาสให้กับประเท 

หลายประเทศก็พูดเรื่องนี้ว่าเราไม่จำเป็นจะต้องมีการมาขอวีซ่าก่อน เพราะว่ามันคือ ease of travelling (ความสะดวกในการเดินทาง) อย่างหนึ่ง การที่จะขอวีซ่าบางทีใช้เวลาเดือนถึงสองเดือน เพราะว่าเราไม่ได้มีสถานทูตทั่วโลก การจะขอวีซ่าบางประเทศอย่างเช่นในทวีปแอฟริกา อาจจะต้องขอที่แอฟริกาใต้ หรือเคนย่า เราพยามจะลดขั้นตอนให้ได้มากที่สุด ในอนาคตเราจะใช้เทคโนโลยีในการขอวีซ่า เราจะมีเว็บไซต์สำหรับยื่นเอกสารทุกอย่างเข้าไปในนั้น แล้วให้อนุมัติผ่านเว็บไซต์ได้เลย ตอนนี้ทางกระทรวงกำลังศึกษาขั้นตอนในการทำ เพราะเราก็ยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยด้วย เราก็ต้องมีการเช็กทุกอย่างให้รอบคอบที่สุดก่อนที่จะให้วีซ่ากับใคร  

Q : จากที่เรามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 99 ประเทศ กระทรวงการต่างประเทศอยากเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยมีอยู่ เพื่อเอื้อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกหรือไม่ 

ครับอย่างที่เรียนว่าไปแอฟริกาใต้ จริง ๆ ผมไปประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement : NAM) ซึ่งมีสมาชิก 120 กว่าประเทศเข้ามา บางประเทศก็ถามว่าเราจะไปเปิดสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือไม่ เราก็ต้องดูความพร้อมของแต่ละที่ก่อน เพราะว่าเรื่องจำนวนคนไทยที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงว่าเราควรจะเปิดหรือไม่เปิด เพราะว่าภารกิจหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ คือ การดูแลคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศเช่นกัน

จักรพงษ์ แสงมณี

Q : ตั้งเป้าหรือไม่ว่าจะทำให้พาสปอร์ตไทยขึ้นไปเป็นพาสปอร์ตทรงอิทธิพลของโลก 

จักรพงษ์ : แน่นอนครับ อย่างที่ท่านนายกฯกล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ท่านอยากจะได้ฟรีวีซ่าเชิงเก้นของสหภาพยุโรป หรืออย่างของสหราชอาณาจักร (UK) เราก็มีการยกขึ้นมาคุยกับท่านทูตแล้วเหมือนกันว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไรในการที่จะได้ฟรีวีซ่า แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในชั้นนี้ แต่เป็นนโยบายของนายกฯ เราก็คงต้องพยายามติดต่อ 

ในแง่การส่งเสริมทางธุรกิจ-เศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยได้ 90 วัน รัฐบาลเราพยายามจะลดอุปสรรคทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุน เพื่อให้เขาสามารถเข้ามาได้ง่ายขึ้น ทำธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น อันนี้เป็นเป้าหมายอยู่แล้วในการร่วมมือกันทำ 

และในส่วนที่จะเป็นการดึงดูดหัวกะทิจากต่างประเทศ เราก็ยังมีวีซ่าระยะยาวที่กำลังจะทำผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีก เหล่า Digital Nomad (คนทำงานผ่านออนไลน์ที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้) ทั้งหลายก็จะสามารถเข้ามาผ่านวีซ่านี้ได้ อีกอย่างที่ผมได้รับคำถามมาตลอดก็คือ เรื่องการที่นักธุรกิจต่างชาติหรือ Expat ต้องไปรายงานตัวเป็นประจำ ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามดำเนินการอยู่ให้ไม่ต้องทำทุก 30 วัน 60 วัน มันเป็นสิ่งที่เรากำลังหาทางออก เพื่อจะช่วยให้หัวกะทิเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เพราะว่าจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก (facility) ครบมา กประเทศนี้เป็นประเทศที่เหล่า Digital Nomad อยากมาอยู่เป็นอันดับต้น ๆ เลยเพียงแต่ติดปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไขกันไป