คดี “เอเวอร์แกรนด์” ศาลฮ่องกงสั่งชำระบัญชี-เลิกกิจการ มีผลบังคับแค่ไหนกับบริษัทจีน ?

เอเวอร์แกรนด์
Evergrande Center ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (ภาพโดย Hector RETAMAL / AFP)

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) ยักษ์อสังหาฯจีนที่มีหนี้สินสูง 2.39 ล้านล้านหยวน (333,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และล้มเหลวในการเสนอแผนปรับโครงสร้างนี้ ถูกศาลฮ่องกงสั่ง “ชำระบัญชี” (liquidation) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2024 จากคดีที่ ท็อป ไชน์ โกลบอล ลิมิเต็ด (Top Shine Global Limited) หนึ่งในเจ้าหนี้ต่างชาติของเอเวอร์แกรนด์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 

ผู้พิพากษาศาลฮ่องกงได้แต่งตั้ง เอ็ดเวิร์ด มิดเดิลตัน (Edward Middleton) และทิฟฟานี หว่อง (Tiffany Wong) จากบริษัทปรับโครงสร้าง “อัลวาเรซ แอนด์ มาร์แซล” (Alvarez & Marsal) เป็นผู้ชำระบัญชีของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งหว่องเปิดเผยว่า พวกเขาจะเริ่มต้นดำเนินการโดยเรียกประชุมผู้บริหารเพื่อทำความเข้าใจกิจการและโครงสร้างของบริษัท และหารือเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไป  

ความหมายของการสั่ง “ชำระบัญชี” คือ ศาลสั่งให้เอเวอร์แกรนด์ต้องถูกผู้ชำระบัญชีเข้ายึดเอาทรัพย์สินไปขายแล้วนำเงินไปใช้หนี้ 

โดยทั่วไป “การชำระบัญชี” เป็นกระบวนการสุดท้ายของการเลิกกิจการ ทั้งในกรณีเลิกกิจการแบบปกติและเลิกกิจการตามคำสั่งศาล ดังนั้นโดยทั่วไปคำสั่งชำระบัญชีจึงมีความหมายเป็นการสั่งเลิกกิจการไปในตัว 

แต่คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัย และนักลงทุนกำลังจับตามอง คือ คำตัดสินของศาลฮ่องกงจะบังคับใช้กับเอเวอร์แกรนด์ได้มากน้อยเพียงใด เพราะถึงแม้ว่าเอเวอร์แกรนด์นำหุ้นเขาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และมีการระดมทุนโดยขายตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศผ่านฮ่องกง แต่เอเวอร์แกรนด์ก็จดทะเบียนตั้งบริษัทและมีทรัพย์สินส่วนใหญ่ (มากกว่า 90%) ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ก็ใช้ระบบกฎหมายที่ต่างจากฮ่องกงด้วย

ในทางทฤษฎี คำตัดสินดังกล่าวของศาลฮ่องกงอาจปูทางให้ผู้ชำระบัญชีพยายามเข้าควบคุมทรัพย์สินบางส่วนของเอเวอร์แกรนด์ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เนื่องจากฮ่องกงกับจีนมีข้อตกลงการยอมรับคำตัดสินข้ามพรมแดนเกี่ยวกับการล้มละลายและการปรับโครงสร้าง ที่สามารถบังคับใช้คำสั่งของศาลฮ่องกงได้ในบางพื้นที่ของจีน แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าศาลจีนแผ่นดินใหญ่จะยอมรับคำสั่งเลิกกิจการของศาลฮ่องกงในคดีนี้มากแค่ไหน และการบังคับจะเป็นไปอย่างไร

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์
อาคารสำนักงานใหญ่ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ในนครเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน (ภาพโดย Aly Song/ REUTERS)

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวที่จัดทำเมื่อปี 2021 ผู้ชำระบัญชีในฮ่องกงสามารถขอความช่วยเหลือจากจีนในการเข้าควบคุมทรัพย์สินในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม กลไกนี้ใช้ได้กับศาลใน 3 เมืองของจีนเท่านั้น ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เซี่ยเหมิน และเสิ่นเจิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจีนแผ่นดินใหญ่ยังสามารถปฏิเสธคำขอได้ หากพวกเขามองว่า คำขอของฮ่องกงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ

นับตั้งแต่มีการทำข้อตกลงกันในปี 2021 มาจนถึงขณะนี้ ศาลจีนยอมรับคำสั่งของศาลฮ่องกงเพียง 1 คดีเท่านั้นจากทั้งหมด 5 คดี จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจีนจะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลฮ่องกง 

และที่สำคัญคือโครงการส่วนใหญ่จากหลายพันโครงการของเอเวอร์แกรนด์ดำเนินการโดยหน่วยงานท้องถิ่น มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นประชาชนหลายล้านคน จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ชำระบัญชีจากต่างประเทศที่จะเข้ายึดทรัพย์สินเหล่านั้นได้

ชอว์น เส้า (Shawn Siu) ผู้บริหารระดับสูงของเอเวอร์แกรนด์กล่าวในแถลงการณ์หลังจากทราบคำสั่งศาลฮ่องกงว่า บริษัทจะทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการส่งมอบโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และเสริมว่าโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้งในและนอกประเทศจีน “ไม่ได้รับผลกระทบ” จากคำสั่งศาลที่มีเขตอำนาจในฮ่องกง 

ตามการรายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่ไม่คาดหวังว่าคำสั่งของศาลฮ่องกงจะสามารถบังคับใช้จริงได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะมีการดำเนินการได้อย่างตรงไปตรงมา

“นักลงทุนต่างชาติจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ศาลในจีนแผ่นดินใหญ่ยอมรับคำตัดสินของศาลฮ่องกงหรือไม่ … นั่นอาจเป็นแบบอย่างที่สำคัญเกี่ยวกับขีดความสามารถของฮ่องกงในการบังคับใช้คำตัดสินทางกฎหมายในประเทศจีน” เคอร์ เซิง ลี (Kher Sheng Lee) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสมาคมการจัดการการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment Management Association) กล่าว 

บร็อก ซิลเวอร์ส (Brock Silvers) กรรมการผู้จัดการของบริษัทหุ้นนอกตลาด ไคหยวน แคปิตัล (Kaiyuan Capital) กล่าวว่า คำสั่งชำระบัญชีน่าจะมีผลกระทบอย่างจำกัดต่อการดำเนินงานหรือสินทรัพย์ในประเทศของเอเวอร์แกรนด์ 

“ในขณะที่ผู้ชำระบัญชีมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมสินทรัพย์ในต่างประเทศได้ แต่อำนาจของมันจะไม่ได้รับการยอมรับในประเทศ” เขากล่าว 

เฟิร์น หวัง (Fern Wang) นักวิจัยอาวุโสของ เคที แคปิตัล กรุ๊ป (KT Capital Group) ในฮ่องกง วิเคราะห์ว่า การเลิกกิจการของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่างเอเวอร์แกรนด์อาจเพิ่มความยุ่งยากให้รัฐบาลจีนในการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์และการรับประกันการส่งมอบบ้านให้ได้ทันเวลา

“ในสถานการณ์เช่นนี้ ศาลของจีนอาจปฏิเสธคำตัดสินโดยอ้างว่าอาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์สาธารณะ” หวังกล่าว 

เอเวอร์แกรนด์
Evergrande Palace โครงการที่อยู่อาศัยของเอเวอร์แกรนด์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (ภาพโดย Pedro PARDO / AFP)

เฮา หง (Hao Hong) หุ้นส่วนและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ โกรว อินเวสต์เมนต์ (Grow Investment Group) ในฮ่องกงกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าคำตัดสินของศาลฮ่องกงในปัจจุบันจะได้รับการยอมรับจากศาลทั้ง 3 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ภายใต้ข้อตกลงทางกฎหมายปี 2021 หรือไม่

“ในขณะที่ศาลฮ่องกงสามารถแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีได้ แต่หากไม่ได้รับการยอมรับจากศาลในแผ่นดินใหญ่ ก็ยากที่จะดำเนินการตามกระบวนการชำระบัญชี เนื่องจากผู้ชำระบัญชีจะไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่มากนัก” หงกล่าว 

ขณะที่ โฮมิน ลี (Homin Lee) นักกลยุทธ์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของทวีปเอเชียของลอมบาร์ด โอเดียร์ สิงคโปร์ (Lombard Odier Singapore) กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สำคัญในการปรับโครงสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และการที่เจ้าหน้าที่กำหนดเส้นแบ่งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนอกประเทศและในประเทศจะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองสำหรับนักลงทุน

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์ และการวิเคราะห์ของหลาย ๆ คน การดำเนินการชำระบัญชีตามคำสั่งศาลฮ่องกงอาจจะทำได้มากที่สุดแค่การที่ผู้ชำระบัญชีเข้าควบคุมทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์ในฮ่องกง แล้วชำระคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งมีมูลหนี้รวม 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเผชิญกับคำสั่งชำระบัญชีส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ของเอเวอร์แกรนด์ที่ราคาซื้อขายต่ำจนแทบจะไม่เหลือมูลค่า และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ในประเทศ ซึ่งจะทำให้เอเวอร์แกรนด์ปรับโครงสร้างหนี้ยากขึ้นอย่างแน่นอน 

ดังที่ เคนนี่ อึ้ง (Kenny Ng) นักยุทธศาสตร์หลักทรัพย์ของ เอเวอร์ไบรต์ ซีเคียวริตีส์ อินเตอร์เนชันแนล ( Everbright Securities International) กล่าวว่า คำสั่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ในจีนแผ่นดินใหญ่ และเพิ่มความยากลำบากในการปรับโครงสร้างของเอเวอร์แกรนด์ในจีนแผ่นดินใหญ่ และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในจีน และความเต็มใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยในจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุน 

อ้างอิง : 

………………………..

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง