ตลาดจีนแข่งยาก รถญี่ปุ่นสู้ไม่ไหว ฮอนด้า-นิสสันลดการผลิตตามมิตซูฯที่ถอนตัวแล้ว

ตลาดรถยนต์ จีน
รถยนต์แบรนด์ BYD ของจีน เตรียมส่งออกที่ท่าเรือในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน/ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2023 (ภาพแจก จัดหาโดย AFP)

ด้วยขนาดอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีน ทำให้จีนเคยเป็นดินแดนแห่งโอกาสของแบรนด์สินค้าจากต่างชาติ แต่เมื่อจีนพัฒนาโปรดักต์ของตัวเองขึ้นมา ภูมิทัศน์ทางธุรกิจก็เปลี่ยนไป จากที่แดนมังกรเคยเป็น “ตลาดแห่งโอกาส” ก็กลายเป็น “ตลาดปราบเซียน” ไปแล้ว หลายโปรดักต์จากแบรนด์ต่างชาติต้องแพ้ให้กับโปรดักต์สัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ หรือรถยนต์ 

ตลาดรถยนต์น่าสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะจีนไม่เพียงแต่สร้างรถยนต์ขึ้นมาใช้ในประเทศเพื่อทดแทนการใช้รถยนต์แบรนด์ต่างชาติ แต่อย่างที่เราได้เห็นกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาว่า จีนสร้างแบรนด์รถยนต์ขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติได้ และส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปตีตลาดโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา 

รถยนต์เป็นโปรดักต์ที่รัฐบาลจีนหมายมั่นปั้นมือให้เป็น “เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่” และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 

เมื่อจีนมีแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง ผลก็คือ แบรนด์รถยนต์ต่างประเทศอยู่ในตลาดจีนยากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้ ขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปกำลังเสื่อมความนิยมลง 

ในปี 2023 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ทั้งโตโยต้า (Toyota) ฮอนด้า (Honda) นิสสัน (Nissan) มาสด้า (Mazda) และมิตซูบิชิ (Mitsubishi) มีรายได้และกำไรจากตลาดจีนน้อยลง จนบางเจ้าเริ่มถอดใจ สู้ไม่ไหวแล้ว…ถอยดีกว่า 

เริ่มจากมิตซูบิชิที่ประกาศระงับการทำธุรกิจในประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม หลังจากเผชิญภาวะยอดขายย่ำแย่ในประเทศจีนมาหลายปี หลังจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวถึงการยุติการผลิตในจีน ซึ่งในเวลานั้น บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายอื่น ๆ ก็ถูกจับตามองว่าคงจะมีการทบทวนการทำธุรกิจในจีนเช่นกัน 

แล้วก็เป็นเช่นที่คาด มาสด้า (Mazda) เป็นรถยนต์ญี่ปุ่นแบรนด์หนึ่งที่มีข่าวว่ากำลังปรับโครงสร้างธุรกิจร่วมทุนในประเทศจีน 

และล่าสุด สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2024 ว่า นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) และฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) สองบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นกำลังเตรียมจะลดกำลังการผลิตรถยนต์ในจีนลง 

นิกเคอิระบุว่า นิสสันจะเจรจากับบริษัทร่วมทุนในจีนเพื่อที่จะลดกำลังการผลิตลง 30% หรือคิดเป็นลดลง 500,000 คันต่อปี จากที่เคยผลิตอยู่ 1.6 ล้านคันต่อปี 

ปัจจุบันนิสสันมีโรงงานในจีน 8 แห่ง รวมถึงโรงงานในหูเป่ย์และเหอหนานที่ร่วมทุนกับตงเฟิง มอเตอร์ (Dongfeng Motor) ของจีน ซึ่งนิสสันจะจัดโครงสร้างโรงงานใหม่เพื่อตอบสนองต่อดีมานด์ในประเทศจีนที่มีจำกัด แล้วมองถึงการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นในเอเชีย

อันที่จริง นิสสันได้ลดการผลิตในจีนลงแล้วตั้งแต่ปี 2023 โดยลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น เหลือ 793,000 คัน ซึ่งเป็นการผลิตที่ลดลงต่ำกว่า 1 ล้านคันต่อปี เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี 

ส่วนฮอนด้าต้องการลดกำลังการผลิตในจีนลง 20% เหลือประมาณ 1.2 ล้านคันต่อปี จากที่เคยผลิต 1.49 ล้านคันต่อปี ภายใต้การร่วมทุนกับพันธมิตร 2 ราย คือ กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group : GAC Group) และตงเฟิง มอเตอร์ กรุ๊ป (Dongfeng Motor Group) ซึ่งขณะนี้ฮอนด้ากำลังหารือกับพันธมิตร และได้แจ้งซัพพลายเออร์รายใหญ่แล้วว่าจะลดการผลิตในจีนลง 

สำหรับโตโยต้ายังไม่มีข่าวว่าจะลดการผลิต แต่ก็ถูกจับตามองอยู่เช่นกัน ยอดขายของโตโยต้าในจีนเมื่อปี 2023 ลดลง 2% จากปีก่อนหน้า เหลือ 1.9 ล้านคัน โดยมีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า เช่น bZ4x และ bZ3 ในประเทศจีน และโตโยต้าตั้งใจที่จะเสริมความแข็งแกร่งในตลาดจีนด้วยการนำเสนอรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)

ตลาดรถยนต์จีน
รถยนต์แบรนด์ BYD ของจีน เตรียมส่งออกที่ท่าเรือในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน/ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2023 (ภาพแจก จัดหาโดย AFP)

เส้นทางความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศจีนเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตและการขายรถยนต์ในประเทศจีน โดยการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่นที่ตอบสนองต่อคำขอของรัฐบาลจีนที่ขอให้พวกเขาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในท้องถิ่น

รถยนต์ญี่ปุ่นได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนเป็นอย่างมาก จนกระทั่งยอดขายไต่ขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2020 โดยรถญี่ปุ่นครองตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในจีนถึง 20%

แต่ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของรถญี่ปุ่นในจีนก็สิ้นสุดลง เมื่อบริษัทจีนนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้จากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นไปพัฒนาโปรดักต์ของตนเอง บวกกับการส่งเสริมของรัฐบาลจีนให้เปลี่ยนผ่านการผลิตและการใช้รถยนต์ในประเทศไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า 

ในปี 2023 ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 56% ด้วยพลังของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่รถยนต์ญี่ปุ่นที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไม่ทันก็ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป 

รถยนต์แบรนด์จีนที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในประเทศไปแล้ว 30% นำโดย บีวายดี (BYD) ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งที่สุดของจีนในเวลานี้ 

แต่ต้องบอกว่า รถยนต์ญี่ปุ่นไม่ได้เดินอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะยังมีบริษัทรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้และเยอรมันที่กำลังประสบปัญหาสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนเช่นกัน 

จากข้อมูลของบริษัทวิจัย มาร์กไลน์ส (MarkLines) ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตรถยนต์เกาหลีใต้ในตลาดจีนลดลงจาก 4.7% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 1.6% ในปี 2023 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์สัญชาติเยอรมันลดลงจาก 24.2% ลงมาอยู่ที่ 17.8% 

ยอดขายรถยนต์ใหม่ของจีนในปี 2023 อยู่ที่ 25 ล้านคัน ยอดขายจำนวนนี้ทำให้จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายมากกว่าสหรัฐถึง 50% 

ยอดขายของฮอนด้าในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของยอดขายรวม ขณะที่ยอดขายของโตโยต้าและนิสสันในจีนคิดเป็นส่วนมากกว่า 20% ของยอดขายรวม ส่วนกำไรจากตลาดจีนนั้นคิดเป็นประมาณ 10% ถึง 20% ของกำไรสุทธิของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น 

การที่รถยนต์ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในตลาดจีนซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก จึงแทบจะหมายถึงการพ่ายแพ้ในตลาดโลกไปด้วย เพราะญี่ปุ่นต้องพยายามมากขึ้นในการหาตลาดอื่นมาชดเชยตลาดจีนที่สูญเสียไป ในขณะที่ฝั่งรถจีนก็ไม่ได้ชนะแค่ในบ้าน แต่กำลังเดินหน้าพิชิตญี่ปุ่นในตลาดนอกบ้านด้วย ซึ่งจีนก็ทำสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่ง โดยแย่งตำแหน่ง “แชมป์ส่งออกรถยนต์” จากญี่ปุ่นไปครองแล้วในปี 2023 ที่ผ่านมา