3 ปัญหาสุขภาพ คุกคามญี่ปุ่น ปี 2024

3 ปัญหาสุขภาพ คุกคามญี่ปุ่น ปี 2024

นอกจากการระบาดของแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ ที่อาจทำให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อตาย ซึ่งกำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ ญี่ปุ่นยังเผชิญกับปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขอีก 2 เรื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ปี 2024 นี้นับเป็นปีที่ญี่ปุ่นเจอความท้าทายด้านสาธารณสุขหลายด้าน โดยเพียงแค่ 3 เดือนแรกของปี ก็พบปัญหาในเมืองใหญ่และเดสติเนชั่นท่องเที่ยวสำคัญทั้งโตเกียว และโอซาก้า ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของตัวเรือด (Bedbug), การระบาดของโรคหัด และล่าสุดอย่างการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ ที่อาจทำให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อตายและเสียชีวิตได้

ตัวเรือด

ตัวเรือด หรือ Bedbug เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ไม่มีปีก กินเลือดของคนและสัตว์เป็นอาหาร โดยมักพบในรอยตะเข็บของที่นอน ผ้าม่าน พรม รวมไปถึงซอก-ร่องบนพื้นหรือกำแพง รอยกัดมีลักษณเป็นตุ่มแดงคล้ายยุงกัดเรียงกันเป็นแนว และมีอาการคันได้นานถึงสองสัปดาห์

ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการระบาดของตัวเรือดรุนแรงตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งมีผู้สอบถามปัญหาเกี่ยวกับตัวเรือดไปยังสมาคมกำจัดแมลงแห่งประเทศญี่ปุ่นมากถึง 706 เคส ตัวเลขนี้สูงเป็น 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2019 ที่มีเพียง 130 เคส และในปี 2022 ตัวเลขนี้ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงโดยตั้งแต่เม.ย. 2022 ถึงปลายปี 2023 มีสมาคมฯ ยังได้รับแจ้งปัญหานี้กว่า 700 เคส โดยในกรุงโตเกียวและโอซาก้าพบเคสสูงเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกันสาเหตุการระบาดของตัวเรือดในญี่ปุ่นยังคงเป็นปริศนา เนื่องจากเดิมเชื่อกันว่าตัวเรือดที่มีพันธุกรรมต้านทานยาฆ่าแมลงซึ่งพบในอเมริกาเหนือนั้นเข้ามาในญี่ปุ่นโดยติดมากับยานพาหนะอย่าง เครื่องบินโดยสาร หรือเรือ แต่ระหว่างการปิดประเทศช่วงโควิด-19 การระบาดของตัวเรือดในญี่ปุ่นกลับลดลงเพียงเล็กน้อย โดยปี 2021 สมาคมกำจัดแมลงแห่งประเทศญี่ปุ่นยังได้รับรายงานเกี่ยวกับตัวเรือดถึง 598 เคส

ทั้งนี้การระบาดของตัวเรือดกำลังเป็นปัญหาระดับโลก หลังปัจจุบันตัวเรือดเริ่มวิวัฒนาการให้ทนต่อยาฆ่าแมลงได้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการระบาดหนักทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งพบตัวเรือดในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก รถไฟ ไปจนถึงบนเครื่องบิน ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวอย่างหนัก จนรัฐบาลฝรั่งเศสต้องประกาศสงครามกับตัวเรือด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่จะจัดในกรุงปารีส

โรคหัด

โรคหัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ มีอาการรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังแพร่เชื้อได้รวดเร็วโดยผู้ป่วย 1 คน อาจแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้ถึง 15 คน มีกลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

แม้ญี่ปุ่นจะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าสามารถกำจัดโรคหัดให้หมดไปจากประเทศได้สำเร็จเมื่อปี 2015 แต่ยังเกินการระบาดหลายครั้ง เช่น ปี 2016 มีผู้ติดเชื้อ 744 คน และในปี 2024 เริ่มพบผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัด

โดยเมื่อกลางเดือนมีนาคม สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ออกประกาศเตือนการแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) ในภูมิภาคคันไซ หลังนครโอซากายืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อโรคหัดในจังหวัด รวม 2 คน และสื่อญี่ปุ่นรายงานยอดรวมผู้ติดเชื้อหัดในญี่ปุ่นรวม 8 คน ทั้งในภูมิภาคคันไซและภูมิภาคอื่น ๆ เช่น นครโอซากา จ.เกียวโต จ.ไอจิ จ.กิฟุ และกรุงโตเกียว แสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดที่เริ่มขยายวงออกไปเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกันยังพบผู้ป่วยใหม่ที่สนามบินคันไซ ในกรุงโอซากา โดยในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่โดยสารเครื่องบินจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้ามายังญี่ปุ่น โดยเที่ยวบิน EY 830 กรุงอาบูดาบี-นครโอซากา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และอีก 1 รายเป็นผู้ที่อยู่ในสนามบินอยู่แล้ว

พร้อมเตือนให้ผู้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าว ผู้เดินทางไปสนามบินคันไซ ผู้โดยสารรถไฟสาย Nankai Electric Railway และผู้ที่ใช้บริการห้าง Super Center TRIAL Rinku Town Store ในวันดังกล่าว เฝ้าสังเกตตนเองหากมีอาการ เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศา ไอ น้ำมูกไหลและผื่น ให้รีบพบแพทย์โดยสวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

เชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอสคัสชนิดเอ

สเตรปโตคอคคัส ชนิด A เป็นแบคทีเรียก่อโรค ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่อันตรายสูงอย่าง ภาวะผิวหนังและกล้ามเนื้อตาย หรือ streptococcal toxic shock syndrome (STSS) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

แม้ภาวะ STSS จะพบได้ยาก แต่ปี 2024 นี้ญี่ปุ่นพบผู้ป่วยด้วยภาวะนี้เพิ่มขึ้น โดยกรุงโตเกียวเปิดเผยว่ามี ณ วันที่ 17 มีนาคม 2024 ผู้ป่วยด้วยภาวะนี้แล้ว 88 รายในโตเกียว และทั่วประเทศพบผู้ป่วย 517 ราย นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะ STSS ในญี่ปุ่นยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยปี 2023 ผู้ป่วยด้วยภาวะ STSS ในญี่ปุ่นเสียชีวิตถึง 30% ตัวอย่างเช่น ในโตเกียวมีผู้ป่วย 141 ราย เสียชีวิตถึง 42 ราย

โดยกรุงโตเกียวแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองโดยสังเกตอาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อชนิดนี้ เช่น การปวดและบวมตามแขนขา หรือมีไข้ ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนการป้องกันการแพร่ระบาดและการติดเชื้อนั้นให้ปิดปาก-จมูกขณะไอ-จาม รวมถึงหมั่นล้างมือ และทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธี