คำเตือนจาก “จอร์จ โซรอส” “อียู” อาจล่มสลายแบบโซเวียต

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

ยังต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายอีกมากสำหรับการดำรงอยู่ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าจะยังสามารถรักษาความเหนียวแน่นเอาไว้ได้มากพอที่จะต้านทานอุปสรรคใหญ่ที่กำลังก่อตัวหรือไม่ หลังจากสั่นคลอนอย่างหนักจากกรณีที่ชาวอังกฤษมีมติถอนตัวจากการเป็นสมาชิกที่เริ่มจุดกระแสให้ประชาชนของอีกหลายชาติสมาชิกแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อมั่นในอียู

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของอียู ทำให้ล่าสุด จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุนที่ได้ฉายาว่า “พ่อมดการเงิน” ออกมาเตือนว่า อียูอาจล่มสลายแบบเดียวกับสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ถ้าหากยังคงนอนหลับและเดินละเมอโดยหลงลืมและไม่ยอมตระหนักรู้ว่าศัตรูที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ทั้งภายนอกและภายในคืออะไร “ยุโรปและชาวยุโรปต้องตื่นขึ้นก่อนจะสายเกินไป เวลานี้อียูกำลังเผชิญกับห้วงนาทีแห่งการปฏิวัติ ส่วนผลลัพธ์สุดท้ายนั้นยากจะคาดเดา”

โซรอสระบุว่า ภาวะการนำในปัจจุบันของอียู ชวนให้นึกถึงภาพของคณะกรรมการโปลิตบูโรของโซเวียตที่ถึงแม้โซเวียตล่มสลายเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงออกคำสั่งโน่นนี่ต่อไปเรื่อย ๆ ราวกับว่าตัวเองยังมีอำนาจควบคุมอยู่ ซึ่งการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนพฤษภาคมนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ เพราะเชื่อว่ากลุ่มต่อต้านอียู กลุ่มที่ไม่เชื่อมั่นในอียูน่าจะได้คะแนนค่อนข้างดี

นักลงทุนระดับโลกรายนี้บอกว่า ฝ่ายต่อต้านอียูค่อนข้างได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นระบบพรรคการเมืองล้าสมัยที่เห็นได้ทั่วไปในชาติยุโรปส่วนใหญ่ สนธิสัญญาที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตลอดจนการขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการกำราบชาติสมาชิกที่ละเมิดหลักการสำคัญของอียู

การเบ่งบานของกลุ่มประชานิยมและกลุ่มต่อต้านอียูในขณะนี้ จะทำให้แรงสนับสนุนอียูอ่อนแรงลง อย่างกรณีของเยอรมนีที่มีการเลือกตั้งล่าสุดในปีที่ผ่านมาจะพบว่าพรรคซีดียูของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี เจอแรงกดดันอย่างหนักเมื่อได้คะแนนนิยมลดลง ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมขวาจัดอย่างเอเอฟดีได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่พรรคขวาจัดได้รับแรงสนับสนุนครั้งใหญ่ที่สุดนับจากยุคนาซี

ในกรณีของอิตาลีซึ่งเกิดกระแสต่อต้านอียู คัดค้านนโยบายการรับผู้อพยพนั้น โซรอสระบุว่า อียู “ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง” ในปี 2017 อันเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตผู้อพยพทะลักเข้ายุโรป โดยครั้งนั้นอียูบังคับใช้ “ข้อตกลงร่วมดับลิน” (Dublin Agreement) ซึ่งกำหนดว่าผู้อพยพที่มาถึงชายฝั่งยุโรปจะต้องทำเรื่องขอลี้ภัยในประเทศแรกที่พวกเขามาถึง ส่งผลให้อิตาลีต้องแบกรับภาระผู้อพยพจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การเลือกตั้งอิตาลีเมื่อปีที่แล้ว พรรคสันนิบาตเหนือและพรรคไฟฟ์สตาร์มูฟเมนต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาได้จัดตั้งรัฐบาลผสมแทนพรรครัฐบาลเดิม คือ พรรคประชาธิปไตย ที่ได้คะแนนเพียงร้อยละ 22.8

โซรอสชี้ว่า หากต้องการตอบโต้ฝ่ายต่อต้านอียูทั้งภายในและนอกอียู ยุโรปจำเป็นต้องยอมรับว่ามีศัตรู และจากนั้นก็ปลุกฝ่ายหนุนยุโรปเสียงข้างมากให้ตื่นขึ้นเพื่อปกป้องคุณค่าสำคัญที่ใช้ในการก่อตั้งอียู ไม่เช่นนั้นแล้วความฝันแห่งการเป็น “หนึ่งเดียวของยุโรป” จะกลายเป็นฝันร้ายแห่งศตวรรษที่ 21

สำหรับประเด็นของเบร็กซิต โซรอสระบุว่า ชาวอังกฤษเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการถอนตัวจากอียูส่งผลร้ายอย่างหนัก แต่ความซับซ้อนและภาวะคาราคาซังอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้คนอังกฤษส่วนใหญ่อยากให้การถอนตัวจบลงโดยเร็ว แม้ว่านี่คือเหตุการณ์ที่จะกำหนดอนาคตประเทศในอีกหลายสิบปีข้างหน้า