3 ยักษ์อีวีจีน เร่งปักธงต่างประเทศ เกรท วอลล์ฯ ทุ่ม 6 หมื่นล้าน บุก “บราซิล”

รถจีน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ “จีน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาด “รถยนต์” ในประเทศเติบโตจนกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แจ้งเกิดมากมาย แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนถูกปัญหารุมเร้า ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในประเทศชะลอตัวตามไปด้วย ค่ายรถยนต์จีนจึงเริ่มมองหาโอกาสในตลาดรถยนต์ต่างประเทศมากขึ้น

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์” (GWM) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รายใหญ่ของจีนประกาศแผนการลงทุนรวม 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.2 หมื่นล้านบาท) ใน “บราซิล” เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าสร้างฐานการผลิตเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรุกตลาดรถอีวีในภูมิภาคละตินอเมริกา

เงินลงทุนดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยประมาณ 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกใช้สำหรับการปรับปรุงและยกระดับสายการผลิตที่โรงงานในรัฐเซาเปาลูของบราซิล ซึ่งเป็นโรงงานเดิมของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ขายให้กับเกรท วอลล์ฯเมื่อเดือน ส.ค.2021 และอีกราว 1,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นทุนการดำเนินงานจากนี้ถึงปี 2032

โรงงานดังกล่าวของ GWM จะผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (เอสยูวี) และรถกระบะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (อีวี) หรือไฮบริดเป็นหลัก คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 โดยจะมีกำลังการผลิตถึง 100,000 คัน/ปี และยังจะช่วยสร้างตำแหน่งงานในบราซิลได้ถึง 2,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ “บราซิล” มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมรถยนต์ในละตินอเมริกา และยังเต็มไปด้วยทรัพยากรอย่างลิเทียมและทองแดง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตรถอีวี ทำให้บราซิลกลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นสำหรับ GWM

นอกจากนี้ ปัจจัยตลาดรถยนต์ภายในประเทศของจีนเอง ก็มีผลต่อการขยายการลงทุนต่างประเทศของผู้ผลิตรถยนต์จีน “ตู ลี” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ซิโน ออโต อินไซต์ส ระบุว่า การขยายธุรกิจในต่างประเทศกลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนในขณะนี้

ไม่เพียง GWM เท่านั้น ค่ายรถยนต์จีนหลายรายต่างมองหาโอกาสเติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะ “จีลี่ ออโตโมบิล” (Geely Automobile) ที่มีแผนเข้าสู่ตลาดรถยนต์บราซิลในปี 2022 เช่นกัน แต่ยังคงไม่เปิดเผยรายละเอียด

โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2022 จีลี่ฯได้บรรลุข้อตกลงกับ “เรโนลต์” ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส โดยจีลี่ฯจะเป็นผู้จัดหาระบบการผลิตโรงงาน “เรโนลต์-ซัมซุง” ในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยตั้งเป้าเจาะตลาดรถยนต์ไฮบริดในเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2024

ขณะที่ “บีวายดี” (BYD) ผู้ผลิตรถอีวีรายใหญ่ของจีนอีกราย ก็กำลังเร่งขยายตลาดในยุโรป โดยเฉพาะการส่งมอบรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้าให้กับหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เยอรมนี และสวีเดน

สาเหตุที่ทำให้ค่ายรถอีวีจีนแสวงหาตลาดต่างประเทศมากขึ้นเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดรถยนต์จีน โดยวอลล์สตรีตเจอร์นัลรายงานว่า แม้ยอดขายรถยนต์รวมของจีนตลอดปี 2021 จะโตขึ้น 4.4% จากปี 2020 แต่ก็เป็นผลมาจากมาตรการอุดหนุนการซื้อรถอีวี
ของรัฐบาลจีน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะไตรมาส 4/2021 ยอดขายรถยนต์จีนกลับลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 โดยข้อมูลของสมาคมรถยนต์ส่วนบุคคลจีน พบว่า ตลาดรถยนต์จีนยังหดตัวติดต่อกันถึง 3 ปี จากปี 2018-2020

นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศของค่ายรถยนต์จีน ยังเป็นการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและสายการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงไม่แน่นอน รวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับการผลิตรถอีวีในจีน