จีนจัดทัพทะเลพิพาท เบื้องหลัง สหรัฐ-ฟิลิปปินส์ นัดซ้อมรบใหญ่สุดใน3ทศวรรษ

สหรัฐ-ฟิลิปปินส์
AP Photo / AFP

สหรัฐ-ฟิลิปปินส์ จะซ้อมรบร่วมกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนายทหารใหญ่ของสหรัฐชี้ว่า จีนวางฐานทางทหารบนเกาะเทียมในเขตพิพาท ทะเลจีนใต้

สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า การซ้อม สหรัฐ-ฟิลิปปินส์ ครั้งนี้จะฟื้นคืนชีพให้กับพันธมิตรทางทหารที่อ่อนกำลังลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากฟิลิปปินส์ประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าจากการที่จีนแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้และน่านน้ำใกล้เคียง

สหรัฐ-ฟิลิปปินส์
(FILES) การซ้อมรบระหว่างสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ 10 เม.ย. 2019  ที่โครว วัลเลย์ เมืองคาปาส จังหวัดตาร์ลัค (Photo by Ted ALJIBE / AFP)

จากแถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำฟิลิปปินส์ การซ้อมรบ ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-8 เม.ย.  จะมีทหารอเมริกันประมาณ 5,100 นาย และทหารฟิลิปปินส์ 3,800 นาย มุ่งซ้อมรบทางทะเลในน่านน้ำฟิลิปปินส์ การต่อต้านการก่อการร้ายและบรรเทาภัยพิบัติ ในชื่อการฝึกซ้อมรบ “บาลิกันตัน” ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534

อีกทั้งยังกลับไปซ้อมรบเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากลดระดับลงเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปีที่แล้ว มีทหารอเมริกันและฟิลิปปินส์น้อยกว่า 1,000 นาย

AFP

นาโต้เวอร์ชั่นอินโด-แปซิฟิก

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอยู่ในสายตาจีน และถูกมองว่า สหรัฐพยายามสร้าง “นาโต้ เวอร์ชั่น อินโด-แปซิฟิก” ขึ้นมา เมื่อเทียบกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบคำถามนักข่าว ถึงการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐ และฟิลิปปินส์ว่าจีนไม่มีความตึงเครียดกับฟิลิปปินส์ และจีนหวังว่าฝ่ายอื่นๆ จะไม่แกล้งสร้างความตึงเครียดขึ้นมา

“จีนไม่คัดค้านประเทศที่เกี่ยวข้องในการซ้อมรบในดินแดนของพวกเขา แต่จีนหวังว่าการซ้อมรบทางทหารจะไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่สามและไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าว

สหรัฐและฟิลิปปินส์ ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันในปี 2494 (ค.ศ.1951) หลังจากอดีตอาณานิคมอเมริกันเพิ่งได้เอกราชไม่นานนัก แต่ในยุคประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต  ความสัมพันธ์เริ่มห่างเหิน นายดูแตร์เตยังขู่ว่าจะตีตัวออกห่างจากพันธมิตรแล้วหันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีน

สหรัฐ-ฟิลิปปินส์
(FILES) การซ้อมรบทางทะเล ระหว่างสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ ที่หาดซานอันโตนิโอ จังหวัดซัมบาเลส (Photo by Ted ALJIBE / AFP)

ปี 2563 ดูแตร์เตยกเลิกข้อตกลงการเยือนกองกำลังที่ลงนามร่วมกันไว้ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขของการซ้อมรบร่วมและการส่งทหารอเมริกันมาประจำการในฟิลิปปินส์ แต่ดูแตร์เตกลับลำหันมาฟื้นข้อตกลงดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว

พลเอกเจย์ บาร์เจอรอน ผู้บังคับบัญชาแม่ทัพนาวิกโยธินที่ 3 ของสหรัฐ กล่าวว่าความเป็นพันธมิตรของสหรัฐ และฟิลิปปินส์ยังคงเป็นกำลังสำคัญของความแข็งแกร่งและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

A Chinese flag flies from one of the two newly-finished concrete structures on the Mischief Reef off the disputed Spratlys group  (AP Photo/Aaron Favila)

บิ๊กสหรัฐซัดจีนจัดทัพเขตพิพาท

ขณะเดียวกัน พลเรือเอก จอห์น ซี. อาคีโน ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐประจำภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว เอพี ว่า จีนปรับเกาะเทียมในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ เป็นฐานทัพอย่างน้อย 3 เกาะ ทั้ง ๆ ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเคยรับปากว่ารัฐบาลจีนจะไม่ทำเช่นนั้น

การสร้างฐานกำลังทางทหารดังกล่าว มีการติดอาวุธมากมาย เช่น ระบบต่อต้านเรือรบ ต่อต้านเครื่องบินรบ อุปกรณ์เลเซอร์ และการส่งสัญญาณรบกวน รวมถึงเครื่องบินรบ

สิ่งปลูกสร้างของจีนบนเกาะเทียม สร้างขึ้นรวมกับหมู่เกาะสแปรตลี ทะเลจีนใต้   (AP Photo/Aaron Favila)

“ผมคิดว่าช่วง 20 กว่าปีมานี้ เราได้เห็นการสร้างฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดของจีนนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาเดินหน้าสร้างศักยภาพ ติดอาวุธที่บั่นทอนความมั่นคงในภูมิภาค” ผบ.ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกล่าว

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ทุ่มงบฯการทหารสูงสุดอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ จีนยกระดับกองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว มีระบบอาวุธมากมาย รวมถึงเครื่องบินรบล่องหน เจ-20  ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก และเรือบรรทุกเครื่องบินรบ 2 ลำ ขณะที่ต่อลำที่สามอยู่ด้วย

พลเรือเอกอาคีโนกล่าวกับเอพี ระหว่างอยู่บนเครื่องบินลาดตระเวน P-84 โพไซดอน ที่บินเข้าไปเฉียดหมู่เกาะสแปรตลี พื้นที่พิพาทที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้ยินเสียงประกาศเตือนจากฝั่งจีน ว่าการเข้าไปเช่นนั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมสั่งให้เครื่องบินออกจากบริเวณดังกล่าวโดยทันที

Chinese structures and buildings at the man-made island on Mischief Reef at the Spratlys group of islands in the South China Sea. (AP Photo/Aaron Favila)

อย่างไรก็ตาม กัปตันบนเครื่องบินของฝ่ายสหรัฐส่งสัญญาณวิทยุกลับไปว่า “ผมได้รับการคุ้มครองอธิปไตยจากเรือรบกองทัพสหรัฐ ที่จะดำเนินกิจกรรมทางทหารที่ถูกต้องตามกฎหมายเหนือน่านฟ้าตามรัฐชายฝั่งใดๆ ก็ได้ นี่เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศ”

จากนั้น เครื่องจึงบินเข้าไปที่ระดับลดลงอยู่ที่ 15,000 ฟุต หรือราว 4,500 เมตร ใกล้กับแนวหินโสโครกที่จีนครอบครองอยู่ พลเรือเอกอาคีโนชี้ให้เห็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาวุธชนิดต่างๆ ชัดเจนว่าเป็นโครงสร้างทางทหาร

เรือหลายลำล่องอยู่ใกล้แนวหินโสโครกที่สร้างขึ้น บริเวณหมู่เกาะสแปรตลี ทะเลจีนใต้ (AP Photo/Aaron Favila)

“กลไกของเกาะเหล่านั้นขยายศักยภาพของจีนออกไปเกินชายฝั่ง พวกเขาจะนำเครื่องบินรบ เครื่องบินทิ้งระเบิด ออกมาก็ได้ และยังมีระบบขีปนาวุธสำหรับการสู้รบด้วย ชัดว่าภัยคุกคามเกิดขึ้นแล้ว และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการปรับพื้นที่เป็นฐานทางทหารจึงน่าวิตกกังวล” พลเรือเอกอาคีโนกล่าวและว่า

“ทั้งหมดนี้คุกคามทุกประเทศที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ในน่านน้ำและน่านฟ้าระหว่างประเทศ”

จีนต่อต้านกองทัพสหรัฐเข้ามาประจำการในพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน แต่ละประเทศต่างอ้างสิทธิทางทะเลในพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของเรือขนส่งสินค้า มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ ทุกปี

กรณีที่สหรัฐแฉจีนเสริมทัพในพื้นที่พิพาท ทะเลจีนใต้ นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวตอบโต้ว่า จีนมีสิทธิที่จะพัฒนาทางทหารที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยตามกฎหมายระหว่างประเทศ