ต้นทุนแบตเตอรี่ ‘อีวี’ ราคาพุ่ง ค่ายรถ ‘จีน’ เสี่ยงเจ็บหนัก

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือ “อีวี” ในประเทศจีน ที่ถือว่าเป็นตลาดอีวีใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงที่ผ่านมาเรียกได้ว่าร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้ผลิตหลายค่ายและมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลจีน

แต่ขณะนี้ผู้ผลิตอีวีในจีนต่างปรับขึ้นราคาขายกันถ้วนหน้า เป็นผลมาจากต้นทุนแบตเตอรี่ที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งค่ายรถยนต์จีนระดับกลางและระดับเล็กกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า ผู้ผลิตรถอีวีในจีนกว่า 20 รายต่างปรับขึ้นราคาขายรถอีวี ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถอีวียักษ์ใหญ่อย่าง “เทสลา” (Tesla) ที่ทยอยปรับขึ้นราคาขายรถอีวี Model 3 และ Model Y ที่ผลิตและจำหน่ายในจีน หลายครั้งตั้งแต่ปลายปี 2021 จนถึงขณะนี้

รวมถึงผู้ผลิตอีวีสัญชาติจีนอย่าง “บีวายดี” (BYD) ก็ปรับขึ้นราคารถอีวีรุ่นหลักในซีรีส์ไดนาสตี้ 2 ครั้งในเดือน ก.พ.และ มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ “เสี่ยวเผิง” (Xpeng) ก็ปรับขึ้นราคารถอีวีราว 10,100-20,000 หยวน/คัน

ด้านผู้ผลิตรถอีวีระดับกลางและระดับเล็กอย่าง “ลี ออโต้” ก็ปรับราคาขายรถอีวีรุ่น “Li One” เพิ่มอีก 11,800 หยวน เป็น 349,800 หยวน เช่นเดียวกับ “เอสเอไอซี-จีเอ็ม-วู่หลิง” ที่ปรับราคาอีวีรุ่นฮงกวง มินิและรุ่นอื่น ๆ ราว 10%

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ผู้ผลิตอีวียักษ์ใหญ่จีน ได้ประกาศยุติการขายรถอีวีแบรนด์ “โอร่า” (Ora) 2 รุ่น คือ แบล็คแคต และไวท์แคต เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรุ่นแบล็คแคตที่เสี่ยงจะสร้างความเสียหายให้บริษัทมากถึง 10,000 หยวน/คัน 
หากยังคงจำหน่ายในราคาเดิม

อย่างไรก็ดี “ตง หยูตง” ซีอีโอของแบรนด์โอร่า ได้ออกแถลงการณ์เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า “รถรุ่นแบล็คแคตและไวท์แคตเพียงแต่หยุดรับคำสั่งซื้อ แต่ยังไม่หยุดการผลิต ผมเชื่อว่าปัญหาที่แบรนด์โอร่าพบเป็นความเสี่ยงเดียวกับที่อุตสาหกรรมทั้งหมดต้องเผชิญ”

ทั้งนี้ รถอีวีทั้งสองรุ่นเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายแก่บริษัทมหาศาล โดยมียอดจองถึง 173,000 คันนับตั้งแต่เปิดตัว ซึ่งสถานการณ์ขาดแคลนชิปและแบตเตอรี่ในขณะนี้ ทำให้โอร่ายังเหลือรถที่ต้องส่งมอบอีกราว 20,000 คัน ซึ่งบริษัทจะเร่งดำเนินการส่งมอบให้เร็วที่สุด

ต้นทุน “แบตเตอรี่” คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตรถอีวีแต่ละคัน ขณะที่ “ซีเอทีแอล” (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีรายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับค่ายรถจีนหลายราย ได้ปรับขึ้นราคาแบตเตอรี่แล้วถึง 2 ครั้งนับตั้งแต่ปลายปี 2021

เนื่องจากราคาของส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่อย่าง “ลิเทียมคาร์บอเนต” มีราคาซื้อขายพุ่งสูงขึ้นถึง 500,000 หยวน/ตันในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพุ่งสูงกว่าในปี 2021 ถึงราว 6 เท่า รวมถึงราคา “นิกเกิล” ที่เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญก็มีราคาสูงและผันผวนอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ผลิตจะมีการปรับขึ้นราคารถอีวี แต่ความต้องการรถอีวีในจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยยอดขายรถยนต์ “พลังงานใหม่” ซึ่งรวมถึงรถอีวีในจีน ช่วง ม.ค.-ก.พ. 2022 เพิ่มขึ้นราว 153.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามข้อมูลของสมาคมรถยนต์ส่วนบุคคลจีน

“เจสัน โลว์” นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย “คานาลิส” ระบุว่า “ราคาขายรถอีวีที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคไม่มากนัก เนื่องจากผู้ที่ตัดสินใจซื้อรถไปแล้ว หากไม่ยินยอมเสียเงินในราคาสูงขึ้น ก็จะเปลี่ยนรุ่นหรือแบรนด์เพื่อให้ได้รถที่สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่”

ดังนั้น ผู้ผลิตอีวีรายย่อยจึงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าค่ายรถรายใหญ่ “บิลล์ รุสโซ” ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ออโตโมบิลิตี้ ลิมิเต็ด ระบุว่า “แบรนด์ระดับกลางและระดับเริ่มต้น จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในการส่งต่อต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากกว่า ผู้ผลิตกลุ่มนี้จึงอาจเลือกที่จะยอมรับกำไรที่ลดลง หรือระงับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางรุ่น”

ขณะที่ค่ายยักษ์ใหญ่ยังคงสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ ด้วยซัพพลายเชนแบตเตอรี่ที่แข็งแกร่ง อย่าง “บีวายดี” ที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้เอง ขณะที่เทสลาก็มีโรงงาน “จิกะแฟกตอรี่” ในเซี่ยงไฮ้ และยังมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันดีกับผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างซีเอทีแอล

“ซิน กั๋วบิน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของจีน ระบุว่า “จะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังต่อการกระทำที่ขัดขวางการแข่งขันทางการค้า เช่น การซื้อขายเก็งกำไร เพื่อผลักดันให้ราคาวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม”

ขณะที่คนในอุตสาหกรรมยังมีมุมมองที่แตกต่าง เพราะบางส่วนมองว่าอาจใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน ที่ราคาของลิเทียมและนิกเกิลจะคลี่คลาย แต่บางฝ่ายมองว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าที่ปัญหาราคาของลิเทียมและนิกเกิลจะกลับมามีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ การกลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในหลายเมืองของจีนขณะนี้ โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ ยังส่งผลให้โรงงานผลิตรถอีวีหลายแห่งต้องหยุดชะงักในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตอีวีจีนที่ลดลง นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ค่ายรถอีวีในจีนยังคงต้องเผชิญจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย