รู้จัก เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ทายาทตระกูลเผด็จการ สู่ผู้นำฟิลิปปินส์

เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์
Photo by Rouelle Umali / POOL / AFP

เปิดประวัติ “เฟอร์ดินานด์ (บองบอง) มาร์กอส จูเนียร์” บุตรชายอดีตผู้นำเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 บลูมเบิร์กรายงานว่า ฟิลิปปินส์ประกาศผลการเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ โดยระบุว่านายเฟอร์ดินานด์ (บองบอง) มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand “Bongbong” Marcos Jr.) บุตรชายของ “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส” อดีตผู้นำเผด็จการที่ล่วงลับ ผู้เคยครองอำนาจฟิลิปปินส์มายาวนาน คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนเสียงเบื้องต้นกว่า 90%

เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์
Photo by Jam STA ROSA / AFP

โดยนายมาร์กอส จูเนียร์ ได้รับคะแนนเสียงเกือบ 30 ล้านเสียง จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 65 ล้านคน มากกว่าคู่แข่งอย่างนาง เลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีในสมัยประธานาธิบดีดูเตอร์เต ถือเป็นสัญญาณการเตรียมกลับมาครองอำนาจทำเนียบมาลากันยังอีกครั้งของตระกูลมาร์กอส หนึ่งในตระกูลการเมืองที่ฉาวโฉ่ที่สุดตระกูลหนึ่งของประเทศ จากอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสผู้เป็นบิดา ที่เคยครองอำนาจฟิลิปปินส์มายาวนานถึง 21 ปี ระหว่างปี 2508 ถึง 2529

ใครคือ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์

เฟอร์ดินาน (บองบอง) มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ปี เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส อดีตผู้นำเผด็จการกับนางอิเมลดา มาร์กอส สตรีหมายเลขหนึ่งผู้อื้อฉาวของฟิลิปปินส์ นายมาร์กอส จูเนียร์ เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อปี 2560 ว่า “บิดาเขาเป็นผู้ผลักดันให้เขากระโดดลงสู่สนามการเมือง .. เขาเป็นพวกบังคับผม และผลักให้ผมลงการเมือง”

ด้วยความที่เป็นทายาทจากตระกูลการเมืองอันมีชื่อเสียง ส่งผลให้นายมาร์กอส จูเนียร์ ช่วงวัย 20 ปี สามารถคว้าชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าจังหวัดฮีลากังอีโลโคส ในช่วงที่บิดายังครองอำนาจทางการเมือง

ด้วยความที่บิดาถูกโค่นล้มทางการเมือง ทำให้ชีวิตของมาร์กอส จูเนียร์ ต้องทิ้งตำแหน่งผู้ว่าจังหวัดบ้านเกิด หลบลี้หนีภัยทางการเมืองไปยังรัฐฮาวายของสหรัฐ กระทั่งปี 2531 นายมาร์กอสได้กลับมายังฟิลิปปินส์ ภายหลังการเสียชีวิตของบิดา ก่อนจะกลับมาคว้าชัยชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้ว่าจังหวัดบ้านเกิดได้อีกครั้ง และเติบโตในเส้นทางการเมืองเรื่อยมาในฐานะสมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่ปี 2553

‘มาร์กอส จูเนียร์’ เคยพ่ายแพ้ในการลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 โดยครั้งนั้น นางเลนี โรเบรโด ซึ่งเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปัจจุบันสามารถคว้าชัยชนะไปได้

Photo by Jam STA ROSA / AFP

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติการศึกษาของนายมาร์กอส จูเนียร์ เนื่องจากเขาระบุว่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ว่านายมาร์กอส ไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับ “ปริญญา” โดยต่อมา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้ยืนยันว่า นายมาร์กอสจูเนียรื ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญา แต่เป็นเพียงประกาศนียบัตรพิเศษในสาขาดังกล่าวเท่านั้น

ด้านชีวิตส่วนตัว มาร์กอสจูเนียร์ สมรสกับ หลุยส์ “ลิซ่า” กาโช อราเนตา มีบุตรรวมกัน 3 คน

ฟิลิปปินส์บนทางแยก “จีน-สหรัฐ”

สิ่งที่น่าจับตาที่สุดของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ คือแนวทางด้านการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ โดยที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีประวัติศาสตร์และความร่วมมือด้านความมั่นคงอันใกล้ชิดกับสหรัฐมาโดยตลอด ทว่าภายหลังที่จีนเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้า รวมถึงอิทธิพลในแถบทะเลจีนใต้ นับว่าเป็นหนึ่งสิ่งที่ฟิลิปปินส์จับตาอย่างใกล้ชิด

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคของประธานาธิบดีดูเตอร์เต มีจุดยืนเอนเอียงจีนเรื่อยมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการลงทุนและการค้าในฟิลิปปินส์ที่รัฐบาลมะนิลา ลงนามให้จีนเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างแพร่หลาย

ช่วงที่มาร์กอส จูเนียร์ หาเสียงหลายฝ่ายมองว่า เขาก็มีแนวโน้มเอนเอียงด้านนโนบายต่างประเทศไปทางจีนมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเคยกล่าวในเวทีฟอรั่มทางออนไลน์ว่า ฟิลิปปินส์ไม่อาจตัดขาด “ความสัมพันธ์พิเศษ” กับสหรัฐได้ และความเป็นพันธมิตรนี้ “สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง” เพื่อช่วยฟิลิปปินส์

ในเวลาเดียวกัน มาร์กอสได้กล่าวว่าเขาวางแผนที่จะเจรจาข้อตกลงกับจีนเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ที่มีมายาวนาน ท่าทีของเขาคล้ายกับดูเตอร์เตซึ่งติดพันกับปักกิ่ง ขณะที่ใช้เงินทุนจากจีนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนประเด็นของรัสเซีย มาร์กอส เคยกล่าวว่า เขาจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาปฏิเสธที่จะแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการทำสงครามในยูเครน โดยระบุเพียงว่า รัสเซียควร “เคารพเสรีภาพของยูเครน”

Photo by Ted ALJIBE / AFP