พบ ฟันมนุษย์โบราณ 1.3แสนปี ในถ้ำสปป.ลาว หลังเคยพบที่เทือกเขาอัลไต

ฟันมนุษย์โบราณ
mde

การขุดค้นของนักวิจัยที่พบ ฟันมนุษย์โบราณ ในถ้ำห่างไกลของ สปป.ลาว อาจช่วยเปิดขุมทรัพย์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับที่มาของมนุษย์

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยประจำสถาบันการศึกษาในฝรั่งเศส ซึ่งเผยแพรในวารสาร Nature Communications ฉบับวันที่ 17 พ.ค.2022 ถึงการค้นพบฟันมนุษย์โบราณ เชื่อว่าเป็นเพศหญิง เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 130,000 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย

ที่สำคัญคือ ดูเหมือนว่าฟันซี่นี้จะเป็นมนุษย์สายพันธุ์เดนิโซวาน (Denisovan) กลุ่มมนุษย์โบราณที่ยังคงลึกลับอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยฟันกรามล่างเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่พบมนุษย์เดนิโซวานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชิ้นที่สองของโลก ซึ่งอาจช่วยไขปริศนาคาใจผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการของมนุษย์

สำหรับฟอสซิลมนุษย์เดนิโซวานชิ้นแรก และมีเพียงชิ้นเดียวในเอเชียเหนือ พบภายในถ้ำเดนิโซวาน ของเทือกเขาอัลไต แถบไซบีเรียของรัสเซีย ได้รับการยืนยันโดยนักวิจัยชาวอเมริกันและชาวยุโรป เมื่อปี 2010 (พ.ศ.2553) ด้วยการตรวจดีเอ็นเอ

หลักฐานทางพันธุกรรมดังกล่าวระบุว่ามนุษย์โบราณมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพื้นที่ทางตอนใต้ ซึ่งในปัจจุบัน คือ ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย

ฟันมนุษย์โบราณ
Fabrice Demeter

เดนิโซวานแห่งอาเซียน

เคลมองต์ ซาโนลลี นักวิจัยบรรพชีวินมนุษย์วิทยา ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ กล่าวว่าหลักฐานใหม่ที่พบในลาวแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เดนิโซวานเคยอาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสนับสนุนงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ที่กล่าวว่ามนุษย์ยุคใหม่และเดซิโนวานอาจจะเคยพบกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักโบราณคดีค้นพบฟันในถ้ำงูเห่า แขวงหัวพัน ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปทางเหนือประมาณ 260 กิโลเมตรโดยขุดค้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561)

ฟันมนุษย์โบราณ
ถ้ำงูเห่า / Fabrice Demeter

ระบุว่าฟันกรามล่างน่าจะมีอายุประมาณ 131,000-164,000 ปี จากการวิเคราะห์เทียบเคียงตะกอนในถ้ำ กระดูกสัตว์ 3 ชิ้นที่พบในปีเดียวกันและอายุของหินที่วางทับฟอสซิล

นักวิจัยซาโนลลีกล่าวว่า ฟันเป็นเหมือนกล่องดำของบุคคลเพราะมีข้อมูลมากมายตลอดอายุขัยและข้อมูลด้านชีวภาพ นักบรรพชีวินใช้ข้อมูลนี้เพื่อเจาะจงสปีชีส์หรือแยกแยะระหว่างสายพันธุ์ สำหรับบรรพชีวินมนุษย์วิทยาฟันก็มีประโยชน์อย่างยิ่งเช่นกัน

เทียบกับ ฟันมนุษย์โบราณ อื่น

นักวิจัยนำฟันที่พบในถ้ำงูเห่าไปเปรียบเทียบกับร่องฟันและความเอียงของฟอสซิลฟันที่เป็นของมนุษย์โบราณสกุลโฮโม พบว่าไม่สัมพันธ์กับฟันของโฮโมเซเปียนส์ หรือ โฮโมอิเร็กตัส ซึ่งเป็นมนุษย์ที่เดินหลังตั้งตรงและพบไปทั่วเอเชีย

แต่ฟันที่พบในลาวมีความใกล้เคียงกับกระดูกขากรรไกรเดนิโซวาน ซึ่งพบบนที่ราบสูงทิเบต เขตเซี่ยเหอ มณฑลกานซู่ ประเทศจีน ขณะที่ผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่าอาจเป็นไปได้น้อยกว่าว่าจะฟันซี่นี้จะเป็นของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

กระดูกขากรรไกรที่พบยังที่ราบสูงทิเบต / Jean-Jacques Hublin / MPI-EVA, Leipzig via AP

ซาโนลลีกล่าวว่าอาจเป็นไปได้ว่าสปีชีส์นี้เดินทางระหว่างหุบเขาและเทือกเขาซึ่งเป็นเรื่องปกติ ส่วนการวิเคราะห์โปรตีนและเคลือบฟันทำให้ระบุได้ว่าเป็นของเพศหญิง

ลูกครึ่งเมื่อ5หมื่นปีก่อน

ทุกวันนี้ ดีเอ็นเอของเดซิโนวานยังคงอยู่ในมนุษย์บางคนเพราะครั้งหนึ่ง บรรพบุรุษโฮโมเซเปียนส์เคยมีเพศสัมพันธ์กับเดนิโซวานและให้กำเนิดทารก เป็นสิ่งที่เรียกทางพันธุศาสตร์ว่า “การผสม” ซึ่งมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษย์โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมในปัจจุบันได้

การผสมนี้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 50,000 ปีก่อน มนุษย์ยุคใหม่ย้ายจากแอฟริกาและข้ามเส้นทางไปเจอกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซวาน แต่ยากที่จะระบุให้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นที่ไหน โดยเฉพาะในกรณีของเดนิโซวาน

ผศ.คาเธอรินา โดวกา นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์โบราณคดี ภาควิชามานุษยวิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย กล่าวว่าไม่ได้มีส่วนร่วมวิจัยและอยากจะเห็นหลักฐานมากกว่านี้และกว้างกว่านี้ที่ระบุว่าฟันซี่ที่พบเป็นของเดนิโซวานจริง

แม้มีข้อสันนิษฐานที่มากมายที่ผู้เขียนงานวิจัยยืนยันว่าเป็นฟอสซิลของเดนิโซวาน แต่ความจริงแล้ว ไม่อาจรู้ได้เลยว่าฟันกรามซี่เดียวและไม่ได้เก็บรักษาไว้อย่างดีนั้นเป็นของเดนิโซวานหรือไม่ หรือเป็นลูกผสม หรืออาจจะเป็นกลุ่มลิงใหญ่ที่ไม่รู้จัก ฟันอาจเป็นของเดนิโซวานก็ได้ซี่งตนอยากจะให้เป็นเช่นนั้น แต่ต้องหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากประกอบ

เพจ ວັດທະນະທຳຫົວພັນວັນນີ້ (วัฒนธรรมหัวพัน) เผยแพร่ภาพถ้ำลิงในแขวงหัวพัน ที่นักวิจัยขุดค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีเช่นกัน

อากาศร้อนเป็นอุปสรรค

โดวกากล่าวว่านักวิจัยนำฟันที่พบในลาวไปศึกษาเทียบเคียงกับขากรรไกรที่พบในเซี่ยเหอ หลายคนคิดว่าเป็นของเดนิโซวาน แต่ยังไม่มีการดึงข้อมูลดีเอ็นเอมาใช้ มีเพียงหลักฐานว่ามีโปรตีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้น คนที่ทำงานเกี่ยวกับกลุ่มลิงใหญ่จึงยังมีปริศนาที่ไขไม่ออกและต้องการเพิ่มจุดในแผนที่ ความยากอยู่ที่การระบุว่าเป็นฟอสซิลของเดนิโซวาน เนื่องจากยังขาดข้อมูลชีวโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การทำงานในเขตร้อนเต็มไปด้วยความยากลำบาก

ด้านผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่ามีแผนที่จะพยายามสกัดดีเอ็นเอจากฟันและอาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น แต่การทำงานในสภาพอากาศอบอุ่นทำให้ต้องใช้เวลาและมีแผนขุดค้นต่อ หลังจากสถานการณ์โควิดซาลง ท่ามกลางคยวามหวังว่าจะค้นพบมนุษย์โบราณที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้น

ส่วนฟาบริซ เดเมเตอร์ จาก Lundbeck Foundation GeoGenetics Center ในเดนมาร์ก กล่าวว่าในภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้เก็บรักษาดีเอ็นเอได้ไม่ดีนัก แต่จะพยายามให้ดีที่สุด