
ไบเดนไล่บี้ MBS คดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี ในการเจรจาล่าสุด แต่สหรัฐเองโดนย้อนปมอื้อฉาวที่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐทำไว้กับชาวมุสลิม
วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานเนื้อหาการพบปะพูดคุยระหว่าง มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย กับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เมืองเจดดาห์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.
ว่ามีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม นายจามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระและคอลัมนิสต์ชาวซาอุฯ ผู้เขียนบทความให้วอชิงตันโพสต์ สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐ เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นประเด็นต้นๆ ในการเจรจา

เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอูด รมว.การต่างประเทศซาอุฯ เผยถึงการเจรจา ว่ามกุฎราชกุมารซาอุฯ หรือ MBS ปฏิเสธอีกครั้งว่าทรงไม่เกี่ยวข้องกับการสังหารดังกล่าวที่เกิดขึ้นภายในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี
เมื่อนายไบเดนกล่าวว่า อาศัยข้อสรุปจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐ จึงไม่เห็นด้วยกับคำพูดนี้ ฝ่าย MBS จึงย้อนถึงกรณีที่ทหารอเมริกันเคยกระทำต่อนักโทษที่เรือนจำอาบูการิบในอิรัก ทั้งล่วงละเมิดทางทางเพศและทำร้ายร่างกาย รวมถึงกรณีนักข่าวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์ถูกสังหารในเขตเวสต์แบงก์ ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้สหรัฐเสียชื่อเสียงเช่นกัน

“มกุฎราชกุมารตอบโต้ประธานาธิบดีไบเดนในเรื่องคาช็อกกีอย่างชัดเจน ว่าอาชญากรรมนี้ซึ่งเป็นเรื่องโชคร้ายและน่ารังเกียจ ทางราชอาณาจักรปฏิบัติต่อเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก ในวิถีทางเห็นอกเห็นใจในฐานะประเทศที่รับผิดชอบ” เจ้าชายฟาร์ฮานตรัสและว่า
“ประเด็นเหล่านี้มาจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับต่างประเทศใดก็ได้ รวมถึงสหรัฐ มกุฎราชกุมารทรงระบุว่าสหรัฐเองก็มีความผิดพลาดที่ต้องทำในสิ่งที่จำเป็นเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งความผิดพลาดนั้นก็เหมือนกับที่ราชอาณาจักร (ซาอุฯ) เผชิญ”
เจ้าชายฟาร์ฮานเปิดเผยว่า การเจรจาเรื่องนี้มีรายละเอียดมากกว่าที่เป็นข่าว และเป็นการถกเถียงถึงหลักการด้วย

“มกุฎราชกุมารชี้ให้ประธานาธิบดีไบเดนเห็นว่า ราชอาณาจักรเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ บนพื้นฐานความเชื่อแบบมุสลิมและมรดกที่สืบทอดของอาหรับ ความพยายามที่จะใช้อุดมการณ์ของคุณหรือของคนอื่นนั้นไม่ได้ผล จะทำให้คุณเจอกับปฏิกิริยาด้านลบ ทางที่ถูกต้องคือคุณต้องแสดงให้โลกเห็นก่อนว่า คุณให้ความสำคัญกับหลักการนั้นและเคารพหลักการของคุณเอง”
“สุดท้ายแล้ว คุณไม่สามารถจะบังคับการใช้อุดมการณ์ของคุณได้ มกุฎราชกุมารย้ำกับนายไบเดนว่า เรามีหลักการของเราเอง อาจไม่ตรงกับหลักการของสหรัฐร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเราภูมิใจกับประเพณี อุดมการณ์และความเชื่อของเรามาก” เจ้าชายฟาร์ฮานกล่าว

ขณะที่ อาเดล อัล-จูไบอี รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการระหว่างประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นถึงเรื่องนี้เช่นกัน หลังการพบปะเจรจาที่เข้าร่วมด้วย
“กรณีคาช็อกกี เราสอบสวนและลงโทษเพื่อให้เป็นตัวอย่างว่าเรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก นี่คือสิ่งที่ประเทศเราทำ และเป็นสิ่งที่สหรัฐเองต้องทำเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นกรณีที่อาบูการิบ”
สำหรับคดีที่เรือนจำอาบู การิบ สถานที่ที่กองทัพสหรัฐเคยใช้กักกันชาวอิรักในช่วงต้นของสงครามอิรัก ปี 2546 ก่อนปิดในปี 2549 เคยเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกเมื่อปี 2547 เมื่อมีภาพหลุดออกมาให้เห็นนาทีทหารอเมริกันทำร้ายทารุณนักโทษอย่างเหยียดหยาม จากนั้นสหรัฐสอบสวนและลงโทษทหาร 11 นายที่เกี่ยวข้องในกรณีอื้อฉาวนี้

ส่วนคดีนักข่าวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์ สังกัดสำนักข่าวอัลจาซีรา ชื่อ อาบู อัคเลห์ ผู้เป็นที่รู้จักว่ารายงานข่าวชาวปาเลสไตน์ในเขตปกครองของอิสราเอลมานานนับสิบปี ถูกทหารอิสราเอล ยิงสังหารในเมืองเจนิน เขตเวสต์แบงก์ ทั้งที่ติดป้าย “สื่อมวลชน” ชัดเจน
เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์และครอบครัวของอัคเลห์ วิจารณ์ถึงการสอบสวนของสหรัฐ และเรียกร้องให้สหรัฐดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อนำตัวชาวอิสราเอลที่เป็นผู้สังหารมาลงโทษ

นายไบเดนยืนยันว่า สหรัฐดำเนินการเรื่องนี้เต็มที่และโปร่งใส โดยระบุว่าความตายของอาบู อัคเลห์ เป็นความสูญเสียอันมหาศาล และตัวเขาเองยืนเคียงข้างกับประธานาธิบดี มามู้ด อับบาส ในนครเบธเลเฮม
“ผมหวังว่าตำนานของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่อีกมากสานงานต่อจากเธอในแง่การรายงานความจริง และบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกมองข้ามเสมอ ส่วนสหรัฐจะจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่และโปร่งใส และจะยืนหยัดปกป้องเสรีภาพสื่อทุกสถานที่ในโลก” นายไบเดนกล่าวระหว่างการเจรจา
….