คอร์กี้ สุนัขทรงเลี้ยงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โปรดปราน

 

The queen pictured at Balmoral with Susan in 1952. The queen leans on a wall in a pale green suit. Susan is a dark red corgi with a pointed, foxy face, and an almost smiling expression

ที่มาของภาพ, Bettmann/getty images

หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างเกิดความสงสัยถึงชะตากรรมของสุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์คอร์กี้อันเป็นที่รักของพระองค์

ล่าสุด มีข่าวว่าเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสของพระองค์ และซาราห์ ดัสเชสแห่งยอร์ก อดีตพระชายา จะทรงรับเจ้ามิค และแซนดี สุนัขทรงเลี้ยงที่เหลือ 2 ตัวไปเลี้ยง

สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีความรักและความผูกพันกับสุนัขขาสั้นตัวป้อมอย่างคอร์กี้มาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ และนี่คือเรื่องราวของพระองค์กับสุนัขพันธุ์โปรด

Short presentational grey line

วันหนึ่งในปี 1959 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมพรรษา 32 พรรษา และมีพระราชโอรสธิดา 2 พระองค์ ทรงวางมือจากการทรงงานหลวงชั่วคราว เพื่อออกแบบป้ายหลุมศพสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรด

ซูซาน เป็นสุนัขพันธุ์เพมบรูกเวลช์คอร์กี้ (Pembroke Welsh Corgi) ที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงได้รับเป็นของขวัญเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพปีที่ 18 ซึ่งในอีกไม่กี่ปีต่อมาเจ้าซูซานได้กลายเป็นสหายสี่ขาคู่ใจที่ติดตามพระองค์ไปทุกหนแห่ง ทั้งในระหว่างที่ทรงไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ หรือแม้แต่ทรงแอบซุกซ่อนมันไว้ใต้พรมในราชรถที่ประทับหลังจากเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิป

สมเด็จพระราชินีนาถทรงเขียนบันทึกถึงการสูญเสียสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดเอาไว้ว่า “ข้าพเจ้ามีความกลัวอยู่เสมอที่จะสูญเสียมันไป แต่ข้าพเจ้าก็ดีใจที่ความเจ็บปวดทรมานของมันเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก”

ซูซานไม่ใช่สุนัขที่เป็นมิตรกับทุกคน และมีประวัติเคยกัดเจ้าพนักงานไขลานนาฬิกา รวมทั้งทหารองครักษ์ประจำพระราชวัง เมื่อตายลง มันถูกฝังไว้ที่สุสานสัตว์เลี้ยงที่พระตำหนักซานดริงแฮม ที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

Susan's gravestone in the pet cemetery at Sandringham. It reads: 'Susan - born 20th Feb 1944. Died 26th Jan 1959. For almost 15 years the faithful companion of the queen'

ที่มาของภาพ, Tim Graham Photo Library via Getty Images

จุดจบของสุนัขพันธุ์เพมบรูกเวลช์คอร์กี้ตัวนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของความรักอันไม่เสื่อมคลายที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีต่อสุนัขพันธุ์นี้

ตลอดช่วง 6 ทศวรรษต่อมา พระองค์ทรงเลี้ยงสุนัขคอร์กี้กว่า 30 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของเจ้าซูซาน และนี่ทำให้สุนัขต้อนปศุสัตว์ที่มีต้นกำเนิดในเวลส์พันธุ์นี้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากสังคม อีกทั้งยังทำให้เกิดสุนัขชนิดใหม่ที่เรียกว่า “ดอร์กี” (dorgi) โดยบังเอิญ จากการผสมพันธุ์กันระหว่างสุนัขคอร์กี้ของพระองค์กับสุนัขพันธุ์ดัชชุนของเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐา ที่มีชื่อว่า “พิปกิน”

A graphic of a corgi

เหตุใดสมเด็จพระราชินีนาถจึงโปรดปรานสุนัขคอร์กี้เป็นพิเศษ คำตอบของเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 1933 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระชันษา 7 ปีทรงเห็นพระสหายของพระบิดาและพระมารดาเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้จึงทรงอยากเลี้ยงตาม

ในยุคนั้นเพมบรูกคอร์กี้ เป็นสุนัขพันธุ์พื้นเมืองที่พบเห็นได้ทั่วไปในเวลส์ แต่ยังไม่ค่อยมีให้เห็นในอังกฤษ พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงติดต่อผู้เพาะพันธุ์ชื่อดังที่ชื่อว่า เทลมา เกรย์ ซึ่งได้นำลูกสุนัขจากฟาร์มโรซาเวล ในมณฑลเซอร์รีย์มาให้ทรงเลือก 3 ตัว

ดยุคแห่งยอร์ก (พระยศขณะนั้น) และครอบครัวตัดสินใจเลือกสุนัขเพศผู้ตัวหนึ่งที่มีชื่อเต็มว่า “โรซาเวล โกลเดน อีเกิล” เพราะมันเป็นเพียงตัวเดียวที่มีหางสั้น ๆ ที่เจ้าของอยากเห็นเวลามันดีใจจากหางที่กระดิก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเรียกชื่อเต็มของเจ้าตูบตัวนี้ แต่ตั้งชื่อเล่นให้มันว่า “ดูกี้” (Dookie) เนื่องจากพนักงานในฟาร์มได้ทราบว่าดยุคแห่งยอร์กคือเจ้าของคนใหม่ของมัน

เจ้าดูกี้มีนิสัยตรงข้ามกับรูปร่างหน้าตาที่แสนน่ารักของมัน เพราะมีข่าวว่ามันชอบกัดเหล่าข้าราชสำนัก และแขกที่ถูกปล่อยไว้ตามลำพัง แต่นั่นก็ไม่ทำให้สื่อมวลชนหยุดตีพิมพ์ภาพที่น่าเอ็นดูของเจ้าหญิงเอลิซาเบธกับเจ้าตูบตัวนี้ และเริ่มทำให้คอร์กี้เป็นที่รู้จักในอังกฤษ

Princess Elizabeth pictured walking down stairs at Glamis Station with a small Pembroke Corgi - Dookie

ที่มาของภาพ, Imagno/Getty Images

ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ครอบครัวยอร์กก็รับ “เลดี้ เจน” สุนัขคอร์กี้อีกตัวมาเลี้ยงจากผู้เพาะพันธุ์เจ้าเดิม จากนั้นช่วงเทศกาลคริสต์มาสในปี 1936 มีการตีพิมพ์หนังสือเด็กเรื่อง Our Princesses and Their Dogs ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จของราชวงศ์อังกฤษ เพราะเนื้อหาในหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของสมาชิกครอบครัวยอร์กกับเหล่าสัตว์เลี้ยงที่ไม่ต่างไปจาก “ครอบครัวคนธรรมดาสามัญครอบครัวหนึ่ง”

ในหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยภาพถ่ายสุนัขทรงเลี้ยง และค่านิยมที่ให้ความสำคัญต่อครอบครัว โดยวางจำหน่ายเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 จะสละราชสมบัติ และทำให้ดยุคแห่งยอร์กทรงก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร

ที่ผ่านมา พระราชวังบักกิงแฮมมักไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยงของสมเด็จพระราชินีนาถ เพราะมองว่าเป็น “เรื่องส่วนพระองค์” แต่ก็ชัดเจนว่าราชสำนักเล็งเห็นถึงการใช้ “อำนาจอ่อน” ของเรื่องนี้ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อราชวงศ์

Princess Elizabeth, beaming in a dress and sandals aged about 10, cradles one Corgi while another stands at her feet.

ที่มาของภาพ, Lisa Sheridan/Studio Lisa/Hulton Archive/Getty

กระแสนิยมในสุนัขคอร์กี้ทำให้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์นี้พุ่งสูงขึ้นอย่างเด่นชัดในปี 1936 และปี 1944 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงได้รับพระราชทานซูซานเป็นสัตว์เลี้ยงส่วนพระองค์ จึงอาจพูดได้ว่าทรงทำให้สุนัขขาสั้นตัวป้อมพันธุ์นี้กลายเป็นที่นิยม ขณะเดียวกันพวกมันก็ทำให้พระองค์มีภาพลักษณ์ที่แสนอบอุ่นด้วย

เคียรา ฟาร์เรลล์ จาก The Kennel Club สโมสรผู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์สุนัขแห่งสหราชอาณาจักร ชี้ว่า กระแสนิยมดังกล่าวไม่ต่างไปจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากภาพยนตร์และการ์ตูนเรื่อง 101 Dalmatians หรือแม้แต่กระแสความนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์โอลด์อิงลิชชีปด็อก (old English sheepdog) ที่เกิดจากโฆษณาสีดูลักซ์ในยุค 70 และ 80

เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงรักและผูกพันกับซูซานอย่างมาก พระองค์ทรงติดต่อผู้เพาะเลี้ยงรายเดิมให้จัดหาคู่ครองของเจ้าตูบตัวนี้ และได้สุนัขเพศผู้ที่ชื่อ “โรซาเวล ลักกี สไตรก์” มาเป็นพ่อพันธุ์ให้สุนัขคอร์กี้ทรงเลี้ยงที่มีมากถึง 14 รุ่น

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

นอกจากความโปรดปรานส่วนพระองค์แล้ว สุนัขคอร์กี้ยังเปรียบเสมือนสายใยที่เชื่อมโยงพระองค์กับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาแห่งความสบายใจ

ในขณะที่เราคุ้นตากับภาพที่เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีทรงพระดำเนินอยู่เบื้องหลังสมเด็จพระราชินีนาถ แต่เหล่าคอร์กี้กลับเดิมดุ่ม ๆ นำหน้าพระองค์อยู่เสมอ

ว่ากันว่า เจ้าหญิงไดอานา ทรงมีถ้อยคำเฉพาะไว้เรียกพฤติกรรมดังกล่าวของสุนัขคอร์กี้ทรงเลี้ยงว่า “พรมเดินได้” เพื่อบรรยายฝูงสุนัขที่คอยเดินนำหน้าสมเด็จพระราชินีนาถ

แต่สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถแล้ว ทรงเรียกสุนัขทรงเลี้ยงเหล่านี้ด้วยความรักว่า “พวกเด็กหญิง” และ “พวกเด็กชาย” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงไม่เคยขายสุนัขที่เพาะพันธุ์ขึ้นมาให้แก่ผู้อื่น สุนัขทั้งหมดต่างอยู่กับพระองค์ หรือไม่ก็พระราชทานให้ผู้ต้องการเพาะพันธุ์ เหล่าพระญาติ หรือพระสหายสนิท

Queen Elizabeth walks through a door in Buckingham Palace, ready to meet players and officials from the New Zealand Rugby League Team, on October 16, 2007. Two dogs have walked into the room ahead of her - a corgi and a dorgi

ที่มาของภาพ, Tim Graham Picture Library/Getty

ไม่ว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะประทับอยู่ที่พระราชวังหรือพระตำหนักใด ก็จะมีสุนัขคอร์กี้ติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถไฟ เฮลิคอปเตอร์ หรือรถลีมูซีน

ในช่วงคริสต์มาส สุนัขแต่ละตัวจะมีถุงเท้าไว้ใส่ของขวัญ ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นผู้นำของขวัญไปใส่ให้ด้วยพระองค์เอง

แม้พระราชวังบักกิงแฮมมีห้องถึง 775 ห้อง แต่สุนัขคอร์กี้มักนอนอยู่ในบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์เสมอ นอกจากนี้ การจูงสุนัขออกไปเดินเล่นยังเป็นกิจวัตรที่ทรงทำเป็นประจำทุกวัน ก่อนจะทรงมีปัญหาเรื่องการเดินในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายของพระชนมชีพ

Queen Elizabeth II with one of her corgis at Sandringham, 1970

ที่มาของภาพ, Fox Photos/Hulton Archive/Getty Images

เพนนี จูเนอร์ นักเขียนเรื่องราวในราชสำนักเชื่อว่า สิ่งที่สุนัขเหล่านี้มอบให้สมเด็จพระราชินีนาถนั้นมีมากกว่าความสุขใจ แต่ยังเป็นสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมโยงพระองค์กับผู้คนมากมาย

เธอชี้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีความหลงใหลในสุนัขและม้า แต่ม้าคือสัตว์เลี้ยงของคนรวย ดังนั้นสุนัขจึงเป็นสื่อกลางที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างพระองค์กับประชาชนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน

ตลอดช่วงเวลาระหว่างปี 1933 – 2018 สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีสุนัขทรงเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 1 ตัวเสมอ ในขณะที่เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีนั้น ไม่เคยมีความชื่นชอบแบบเดียวกัน และครั้งหนึ่งทรงเคยบ่นว่า “เจ้าพวกหมาบ้า! ทำไมต้องเลี้ยงเอาไว้มากมายขนาดนี้ด้วย”

A picture released in London on February 4, 2022, and taken in January, shows Elizabeth II stroking Candy, her Dorgi, as she looks at a display of memorabilia from her Golden and Platinum Jubilees at Windsor Castle

ที่มาของภาพ, AFP via Getty Images

เมื่อสุนัขพันธุ์ดัชชุนชื่อ “พิปกิน” ที่เจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงเลี้ยงเกิดผสมพันธุ์กับสุนัขคอร์กี้ที่ชื่อ “ไทนี่” ของสมเด็จพระราชินีนาถ ก็เกิดสุนัขลูกผสมที่เรียกว่า “ดอร์กี” ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงหลงรัก จนทำให้มีสุนัขลักษณะนี้เกิดตามมาอีกประมาณ 10 ตัว

ดอร์กี มีลักษณะแตกต่างกันออกไป บางตัวมีหูตั้งเหมือนสุนัขคอร์กี้ แต่บางตัวก็มีหูห้อยลงมา แต่ทั้งหมดมีหางยาว และขนาดตัวเล็กกว่าสุนัขคอร์กี้สายพันธุ์แท้

A graphic of a corgi

ความรักในสุนัขทำให้บางครั้ง สมเด็จพระราชินีนาถทรงรับเลี้ยงสุนัขที่เจ้าของเสียชีวิต โดยครั้งหนึ่งทรงรับเลี้ยงสุนัขคอร์กี้ 3 ตัวของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ที่สิ้นพระชนม์ในปี 2002 นิตยสารแวนิตี แฟร์ ระบุว่า ตอนที่สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปทอดพระเนตรพระศพพระราชมารดาที่ตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์ ทรงรับเอาสุนัขของพระราชมารดามาเลี้ยงในทันที

นอกจากนี้ยังทรงเคยรับเลี้ยงสุนัขของพระสหายที่เคยช่วยพระองค์เพาะพันธุ์สุนัขคอร์กี้ด้วย

การเพาะพันธุ์สุนัขในราชสำนักได้ยุติลงเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถไม่ต้องการทอดทิ้งสุนัขรุ่นเยาว์เอาไว้เบื้องหลังเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพพระองค์กับเจ้า “แคนดี” ซึ่งเป็นดอร์กีที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งยังทรงเลี้ยงสุนัขคอร์กี้รุ่นเยาว์ 2 ตัวที่ชื่อมิก และแซนดี ซึ่งเป็นของขวัญจากเจ้าชายแอนดรูว์และพระธิดา

หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต เจ้าชายแอนดรูว์จะทรงรับสุนัขทั้งสองกลับไปเลี้ยง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเจ้าแคนดีจะตามไปอยู่ด้วยกันหรือไม่

A 1966 black and white picture of Prince Andrew, a young boy in knee socks, encouraging a reluctant royal corgi to leave the train at Liverpool Street Station in London

ที่มาของภาพ, PA

สมเด็จพระราชินีนาถมักทรงใช้สุนัขเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาความไม่สบายพระทัย เช่นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ก็จะทรงเดินหนีออกมา แล้วพาสุนัขออกไปเดินเล่นข้างนอก ว่ากันว่าเจ้าชายแอนดรูว์ทรงใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์กว่าที่จะฝ่าด่านนี้ได้ เพื่อเข้าไปกราบบังคมทูลเรื่องที่พระองค์จะหย่าขาดจากซาราห์ พระชายา

นอกจากนี้ สมเด็จพระราชินีนาถยังทรงใช้สุนัขช่วยเยียวยาจิตใจให้ผู้อื่นด้วย นพ.เดวิด น็อตต์ ศัลยแพทย์ทหารที่เคยไปปฏิบัติภารกิจในซีเรียเล่าว่า ทรงใช้สุนัขช่วยให้เขาผ่อนคลาย หลังจากประสบภาวะเครียดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) จนไม่สามารถสนทนากับพระองค์ได้ในระหว่างร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่พระราชวังบักกิงแฮม

นพ. น็อตต์ เล่าว่าดูเหมือนสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงรับรู้ถึงความผิดปกติของเขาได้ จึงตรัสว่า “ให้ข้าพเจ้าช่วยไหม” ก่อนที่จะทรงเรียกสุนัขคอร์กี้เข้ามา

“เมื่อมหาดเล็กพาสุนัขเข้ามา พวกมันก็วิ่งกรูไปที่ใต้โต๊ะ” จากนั้นสมเด็จพระราชินีนาถทรงเปิดกระป๋องบิสกิตออก “แล้วพระองค์กับผมก็ป้อนบิสกิตให้สุนัขด้วยกันอยู่ 20 นาที พระองค์ทำเช่นนั้นเพราะทรงรู้ว่าผมมีความบอบช้ำทางจิตใจมากขนาดไหน” เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น

A graphic of a corgi

เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระชนมชีพที่ยืนยาว หลายคนจึงมองว่าคอร์กี้เป็นสุนัขสำหรับคนแก่ นี่จึงทำให้ความนิยมในสุนัขพันธุ์นี้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1990 และในปี 2014 ที่มีผู้จดทะเบียนเลี้ยงคอร์กี้รายใหม่เพียง 274 ตัว

ทว่ากระแสความนิยมเลี้ยงคอร์กี้ได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์เรื่อง “เดอะ คราวน์” (The Crown) ออกอากาศซีซันแรกในปี 2016 ทำให้คนหนุ่มสาวหันมาเลี้ยงสุนัขที่เป็นสัญลักษณ์ของควีนกันมากขึ้น และช่วยให้คอร์กี้พ้นสถานะสุนัขที่เสี่ยงสูญพันธุ์

แม้ว่ารัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะสิ้นสุดลงแล้ว และแม้ว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเคยตรัสว่าทรงโปรดสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์มากกว่า อีกทั้งทรงเลี้ยงสุนัขพันธุ์แจ็ค รัสเซลล์ มาเป็นเวลานาน แต่หลายคนหวังว่ากระแสความนิยมในสุนัขคอร์กี้จะไม่จางหายไป

เคียรา ฟาร์เรลล์ จาก The Kennel Club กล่าวว่า “คอร์กี้มีความก้าวหน้ามากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” และเธอเชื่อว่า สุนัขพันธุ์นี้จะยังคงได้รับความนิยมต่อไปจากคนรุ่นใหม่ที่มองว่าพวกมันมีความน่ารักและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

ทุกภาพมีลิขสิทธิ์

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว