ย้ายประเทศ : เปิดเส้นทางผู้ลี้ภัยซีเรียกับราคาที่ต้องจ่าย สู่การได้สัญชาติแคนาดา

 

Hassan al-Kontar attending a remote Canadian citizenship ceremony

Hassan al-Kontar
ฮัสซาน อัล-คอนตาร์ ร่วมพิธีรับสัญชาติแคนาดาผ่านระบบทางไกล

 

ย้อนไปเมื่อปี 2018 ฮัสซาน อัล-คอนตาร์ ติดอยู่ในสนามบินมาเลเซียอยู่ 7 เดือน ไปไหนไม่ได้เพราะกลัวตาย

5 ปีผ่านไป ผู้ลี้ภัยวัย 41 ปี ได้สัญชาติแคนาดาแล้ว

“วันนี้ผมกลายมาเป็นชาวแคนาดามากขึ้น แต่ผมเองมองว่า ผมได้เป็นคนแคนาดาตั้งแต่วันแรกแล้ว”

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเรื่องที่น่ายินดีหลายเรื่อง แต่ก็ผสมปนเปไปด้วยความขมขื่นและมีราคาที่ต้องจ่าย เช่น การที่บ้านเกิดของเขาถูกทำลาย ต้องพรากจากคนที่เขารักมานานกว่าทศวรรษ

https://www.instagram.com/p/CnSHXZapLe9/?igshid=YmMyMTA2M2Y%3D

ประเทศของผู้ย้ายถิ่นฐาน

แคนาดากำลังพยายามอย่างมากในการนำผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอุดช่องว่างในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดจาก การที่ประชากรในยุคเบบี้บูมเมอร์เริ่มเกษียณออกจากตลาดแรงงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการนำคนจากต่างประเทศเข้ามามากเช่นนั้น

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลแคนาดาประกาศแผนการที่ท้าทายในการนำผู้ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศ 500,000 คนต่อปี ภายในปี 2025 โดยจะมีผู้ย้ายถิ่นใหม่เกือบ 1.5 ล้านคนเข้ามาในแคนาดาในช่วง 3 ปีต่อจากนี้

แผนการนี้จะทำให้แคนาดามีสัดส่วนจำนวนผู้พำนักถาวรในประเทศในแต่ละปีต่อจำนวนประชากร สูงกว่าสหราชอาณาจักร 8 เท่าตัว และสูงกว่าสหรัฐอเมริกา เพื่อนบ้านทางใต้ 4 เท่าตัว

จำต้องย้ายหลายประเทศ

กว่าจะมาถึงเมืองวิสต์เลอร์ในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาได้ อัล-คอนตาร์ต้องย้ายประเทศหลายครั้ง ในปี 2017 หลังจากวีซ่าทำงานหมดอายุ เขาเดินทางออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปมาเลเซีย

เมื่อไม่สามารถกลับซีเรียได้เพราะอาจจะถูกเกณฑ์ทหารหรือไม่ก็จำคุก ขณะที่สงครามกลางเมืองยังดำเนินไป เขาเดินทางไปหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้ชาวซีเรียเดินทางเข้าไปได้โดยไม่มีวีซ่าและอยู่ไม่เดิน 90 วัน

เมื่อช่วงเวลานั้นจบลง เขาพยายามจะไปเอกวาดอร์และกัมพูชาแต่ถูกปฏิเสธ เมื่อไม่มีประเทศไหนยอมรับเขา แต่หลังจากเจ้าหน้าที่กัมพูชาได้ยึดหนังสือเดินทางของเขา อัล-คอนตาร์จึงตัดสินใจเดินทางไปอยู่ยาวในสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ ตลอดช่วงเวลา 7 เดือนในสนามบินแห่งนี้ เขาได้อัดวิดีโอบันทึกเป็นไดอารี่ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของเขาบนทวิตเตอร์ นี่เป็นการเชื่อมเรื่องส่วนตัวเข้ากับบริบทของความวิกฤตครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหลายล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่

ตั้งแต่ปี 2011 มีชาวซีเรียลี้ภัยออกจากประเทศราว 6.8 ล้านคนแล้ว

วิดีโอไดอารี่ทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก ส่งผลให้ชาวแคนาดายื่นมือเข้ามาช่วย รัฐบาลแคนาดาอนุญาตให้กลุ่มหรือบุคคลสามารถให้เงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในการใช้ชีวิตในปีแรกในแคนาดาได้

สมาคมมุสลิมแห่งรัฐบริติชโคลัมเบียตกลงให้การสนับสนุนเขา และกลุ่ม Good Samaritans ก็ช่วยผลักดันให้รัฐบาลแคนาดาและเจ้าหน้าที่มาเลเซียยอมให้เขาเข้ามาในประเทศได้ จากนั้นเขาก็ใช้เวลาอีก 2 เดือนอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยซึ่งเขาบอกว่าถูกสอบสวนเป็นร้อยๆ ครั้ง

Hassan al-Kontar

Hassan al-Kontar

 

เมื่อปีที่แล้ว เขาประสานงานจากบ้านในแคนาดาและช่วยให้ครอบครัวตัวเองย้ายจากซีเรียไปอียิปต์สำเร็จ

การจากบ้านไป 15 ปี ทำให้เขาไม่ได้เห็นตอนหลานสาวเกิดและตอนที่พ่อเสียชีวิต

หลังจากเขามาถึงแคนาดา เขาพยายามจะสร้างความตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับชะตากรรมผู้ลี้ภัยทั่วโลกให้มากขึ้น เขาการเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ตัวเองและเริ่มทำงานให้กับสภากาชาดแคนาดาในช่วงโรคโควิดระบาด เขาก็ช่วยงานโครงการกระจายการฉีดวัคซีนแบบเคลื่อนที่ด้วย

อัล-คอนตาร์ พยายามพัฒนาตัวเองตลอด เรียนหนังสือผ่านหลักสูตรออนไลน์หลายหลักสูตร และเขายังได้เลื่อนตำแหน่งมาทำงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูวิกฤตน้ำท่วมอีกด้วย

จากที่เป็นบุคคลไร้ที่อยู่อยู่หลายปีและแทบไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ตอนนี้เขาสามารถทำเรื่องขอหนังสือเดินทางแคนาดาได้แล้ว และหวังว่าจะได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ที่ต้องพลัดถิ่น

“ในฐานะผู้ลี้ภัย เราไม่ใช่คนที่พยายาม คนที่ขอความช่วยเหลือ คนที่ไม่มีพลังอำนาจและสิ้นหวังเท่านั้น” เขาเล่า “จริง ๆ แล้วเราพยายามจะหาโอกาสที่จะได้พิสูจน์ตัวเอง”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว