ชงศาลรัฐธรรมนูญ ยุติโหวตนายกฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งตีความ

ศาลรัฐธรรมนูญ

ปม “ญัตติซ้ำ” สะเทือนทั้งรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติ ส่งเรื่องการใช้ข้อบังคับประชุมรัฐสภา  เสนอชื่อโหวตนายกฯ ซ้ำไม่ได้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พร้อมขอให้มีคำสั่งให้ยุติโหวตเลือกนายกฯก่อน จนกว่าศาลมีวินิจฉัย

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมกรณีขอให้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ว่า

พิจารณา 17 คำร้องของสมาชิกรัฐสภา-ประชาชน

ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาและประชาชน จำนวน 17 คำร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 213

จากกรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่า “ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน” เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่า เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่

โดยเห็นว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญและการกระทำของรัฐสภา ในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วมาตรา มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง

โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน

นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ขอให้ยุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อน

ทั้งนี้ มีนักวิชาการ 2 ราย เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นนี้คือ นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ และนายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

ซึ่งมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในส่วนนี้ มีความว่า “ส่วนคำร้องเรียนส่วนหนึ่ง ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อน”

การวินิจฉัยซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า “เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป”

ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

พ.ต.ท.กีรป คาดว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เป็นอย่างช้า ก่อนกำหนดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2566 รัฐสภามีมติ 395 ต่อ 312 ว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 ในเมื่อรัฐสภาโหวต “ไม่เห็นชอบ” ชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปแล้วเมื่อ 13 กรกฎาคคม 2566 จึงไม่สามารถเสนอชื่อเดิมให้สมาชิกรัฐสภาโหวตซ้ำได้อีกตลอดสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสมัยในวันที่ 30 ตุลาคม 2566