ประชาธิปัตย์ เลือดไหลไม่หยุด สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ลาออก

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

พรรคประชาธิปัตย์ เลือดไหลไม่หยุด สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส. 7 สมัย อรอนงค์ กาญจชูศักดิ์ อดีต สส.กทม. ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต สส.ตรัง 7 สมัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ลาออกจากสมาชิกอีกราย โดยมีข้อความว่า

“คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์…… ด้วยรักและผูกพัน”

วันเดียวกันนี้ มีสมาชิกพรรคตลอดชีพอีกราย ได้ลาออกเช่นกัน คือ นายวิบูลย์ ศรีโสภณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตลอดชีพ ตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2541 โดยในหนังสือระบุถึงสาเหตุขอลาออก ว่า 1.อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรรค และ สส. ในพรรค 2.หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป และ 3.หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้ สส. ในพรรค ขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78 ปี

วันเดียวกันนี้ นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เช่นกัน โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมโพสต์คลิป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออกไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ระบุว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา”

และมีข้อความว่า “ขอบพระคุณท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดีมาโดยตลอด ยังคงรัก ศรัทธา และเป็นกำลังใจให้ท่านหัวหน้าตลอดไป”

25 ปีกับชีวิตนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนพรรค พูดได้เต็มปากว่า เลือดฟ้ามันข้น กรีดมายังไงก็ฟ้าแน่นอน

“ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึก ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไปค่ะ”

ทั้งนี้ หลังจากการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ นำโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งในวาระดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้ขอลาออกจากสมาชิกพรรค และนายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรค ก็ได้ลาออกเช่นกัน

สำหรับกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ชุดใหม่ ที่ผ่านการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 มีดังนี้

หัวหน้าพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รองหัวหน้าพรรค ภาคเหนือ สมบัติ ยะสินธุ์
รองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน ไชยยศ จิระเมธากร
รองหัวหน้าพรรค ภาคกลาง ประมวล พงษ์ถาวราเดช
รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ ชัยชนะ เดชเดโช
รองหัวหน้าพรรค ภาค กทม. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

รองหัวหน้าพรรค ตามภารกิจ
นริศ ขำนุรักษ์
จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร
พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่
นราพัฒน์ แก้วทอง
ธารา ปิตุเตชะ
น.ต.สุธรรม ระหงษ์
มนตรี ปาน้อยนนท์
อภิชาต ศักดิเศรษฐ์

เลขาธิการพรรค เดชอิศม์ ขาวทอง
รองเลขาธิการพรรค
สุพัชรี ธรรมเพชร
จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์
สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ
ชนินทร์ รุ่งแสง
สมยศ พลายด้วง
กันตวรรณ ตันเถียร

เหรัญญิก เจิมมาศ จึงเลิศศิริ
นายทะเบียนพรรค วิรัช ร่มเย็น
โฆษกพรรค ราเมศ รัตนะเชวง

ตัวแทนพรรคจากผู้แทนสภาท้องถิ่น
พ.ต.อ.ภิญโญ ป้อมสถิตย์
วงศ์วชิระ ขาวทอง

ตัวแทนพรรคจากผู้บริหารท้องถิ่น
ไพเจน มากสุวรรณ

ขนิษฐา นิภาเกษม ตัวแทนพรรคภาคเหนือ
น้ำฝน หอมชาลี ตัวแทนพรรคภาคอีสาน
ชวลิต รัตนสุทธิกุล ตัวแทนพรรคภาคกลาง
สุรศักดิ์ วงศ์วนิช ตัวแทนพรรคภาคใต้
ชยิน พึ่งสาย ตัวแทนพรรค กรุงเทพมหานคร

กรรมการบริหารพรรค
ประกอบ รัตนพันธ์
เมฆินทร์ เอี่ยมสอาด
สงกรานต์ จิตสุทธิภากร
สมชาติ ประดิษฐพร
ยูนัยดี วาบา
พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์
ปุณณ์สิริ บุญยเกียรติ
ดร.เจนจิรา รัตนเพียร

กรรมการบริหารสำรอง
รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท