ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนกลับมาอ่อนค่า หลังจาก GDP ไตรมาส 3 แย่กว่าคาด

ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนกลับมาอ่อนค่า หลังจาก GDP ไตรมาส 3 แย่กว่าคาด

วันที่ 5 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 2-5 มกราคม 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (2/1) ที่ระดับ 34.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (28/12) ที่ระดับ 34.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันจากสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแถลงการณ์หลังการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุด (12-13/12) และมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจาก Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 74.1% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2567 และเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 6 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.50% มากกว่าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75%

โดยคืนวันอังคาร (2/1) เอสแอนด์พี โกลบอล ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ประจำเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 47.9 จุด ซึ่งหดตัวต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่อยู่ที่ระดับ 48.2 จุด โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 48.4 จุด

อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.23% แตะที่ระดับ 102.43 หลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขานรับถ้อยแถลงของนายโทมัส บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ ซึ่งส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อชะลอตัวลง โดยนายบาร์กินแสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่จะเติบโตแบบช้า ๆ และนายบาร์กินกล่าวว่า เฟดยังคงมีทางเลือก ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มีความคืบหน้าในการชะลอเงินเฟ้อและยังคงมีความเสี่ยงที่ว่าภารกิจของเฟดในการสกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจจะยังไม่สิ้นสุดลง

ขณะที่ระหว่างสัปดาห์ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนธันวาคมโดยระบุว่า คณะกรรมการเฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้และความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้นมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม กรรมการมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่เฟดดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินมากเกินไป รายงานการประชุม ยังระบุด้วยว่า อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในช่วงไหน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 62,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.790 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.850 ล้านตำแหน่ง

และกระทรวงแรงงานสหรัฐปรับเพิ่มตัวเลขการเปิดรับสมัครงานในเดือนตุลาคมสู่ระดับ 8.852 ล้านตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 8.733 ล้านตำแหน่ง ดัชนีภาคผู้จัดการด้านการผลิตเดือนธันวาคม จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.4 จุด สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 47.2 จุด และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 46จุด

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนหลัง ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 130,000 ตำแหน่ง และเพิ่มจาก 101,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 18,000 ราย สู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันพุธ (3/1) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยจะมีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2.787 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้น 11.9% ทำให้สามารถจัดสรรงบฯไปลงทุนได้กว่า 717,722 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4.1% และสามารถชดใช้เงินคงคลัง และชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ 2568

โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปี 2567 โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศนั้น (GDP) จะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.7-2.7% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของ GDP ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.11-34.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/1) ที่ระดับ 34.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันอังคาร (2/1) ที่ระดับ 1.1043/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (28/12) ที่ระดับ 1.1044/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงประสบปัญหาหลังหดตัวเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน

อีกทั้งในวันอังคาร (2/1) ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนี ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ 43.3 จุด ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 42.6 จุด ในเดือนพฤศจิกายน โดย S&P Global เผยตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนี ในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 49.3 จุด สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 48.4 จุด

นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตชั้นสุดท้ายของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48.8 จุด สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 48.1 จุด ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0891-1.1044 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/1) ที่ระดับ 1.0938/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคาร (2/1) ที่ระดับ 141.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (28/12) ที่ 140.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันหลังจากการปรับตัวแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในภาคกลางของญี่ปุ่น

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ลดความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษในการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.80-145.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/1) ที่ระดับ 145.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ