REVLON เรฟลอนยื่นล้มละลาย เปิด 2 เหตุผลยอดขายลด คู่แข่งชิงมาร์เก็ตแชร์

ล้มละลาย
ภาพจากเพจ Revlon Thailand

เรฟลอนยื่นล้มละลาย เนื่องจากปรับตัวตามตลาดโลก และสู้แบรนด์หน้าใหม่ไม่ทัน

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 รอยเตอร์ รายงานว่า บริษัท เรฟลอน อิงค์ (Revlon Inc) ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอ การพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายแห่งสหรัฐ หลังจากต่อสู้กับเหล่าแบรนด์หน้าใหม่ในโลกออนไลน์ที่ผุดขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“โรนัลด์ เพเรลแมน” มหาเศรษฐี นักลงทุนชาวอเมริกันผู้ก่อตั้ง แมคแอนดรูว์ แอนด์ ฟอร์บส์ (MacAndrews & Forbes) ได้แจกแจงรายละเอียดสินทรัพย์ และหนี้สินจดทะเบียนที่อยู่ระหว่าง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามคำฟ้องต่อศาลล้มละลายสหรัฐ

การยื่นฟ้องล้มละลายมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่วอลล์สตรีตเจอร์นัล (Wall Street Journal) รายงานว่า เรฟลอน ได้เริ่มเจรจากับผู้ให้กู้ก่อนที่หนี้จะถึงกำหนดชำระ เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย

เรฟลอน ประสบปัญหาด้านยอดขาย เนื่องจากปัญหาคอขวดในการผลิต (supply bottlenecks) กระบวนการที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิต หลังการคลายล็อกดาวน์ ที่ความต้องการในการใช้สินค้าพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งแบรนด์หน้าใหม่ก็มีให้เลือกมากขึ้น ผู้บริโภคเปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่น ทำให้เรฟลอนสูญเสียพื้นที่ในชั้นวางให้กับแบรนด์น้องใหม่จากคนดัง เช่น ไคลีย์ คอสเมติกส์ (Kylie Cosmetics) ของ ไคลีย์ เจนเนอร์ และ เฟนตี้ บิวตี้ (Fenty Beauty) โดย รีแอนนา

ในทางตรงข้ามกับแบรนด์คู่แข่งอย่าง โคตี้ อิงค์ (Coty Inc) ที่นอกจากได้รับส่วนแบ่งในตลาดเพิ่ม และลงทุนมหาศาลในการปรับปรุงการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการเครื่องสำอางหลังจากการฟื้นตัวจากการระบาดโควิด-19

แบรนด์เครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ เรฟลอน ก่อตั้งขึ้นในปี 2475 โดยพี่น้องชาร์ลส์และโจเซป เรฟลอน หลังจากนั้น ชาร์ลส์ ลาชแมน เรฟลอน ได้ขายให้กับ แมคแอนดรูว์ แอนด์ ฟอร์บส์ ในปี 2528 และเริ่มมีชื่อเสียงในช่วง 11 ปีต่อมา

หลังจากนั้นบริษัทได้ซื้อ เอลิซาเบธ อาร์เดน (Elizabeth Arden) เป็นมูลค่า 870 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลผิว อย่างไรก็ตาม ยอดขายของเรฟลอนในปี 2564 ลดลงถึง 22% จากปี 2560 ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง