บทความพิเศษ : บำนาญ ส.ส. – ส.ว.กับ ช้างป่วย !!

วุฒิสภา
บทความพิเศษ โดย ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอบทความเรื่อง “บำนาญ ส.ส.กับช้างป่วย” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ไม่นานมานี้ ส.ส.ในสภาบางท่านได้หยิบยกประเด็น “ช้างป่วย” หมายถึง บำนาญข้าราชการก้อนจำนวนมหึมา คือภาระทางการคลัง เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีงบประมาณประเภทรายจ่ายประจำสูงกว่าร้อยละ 70 ของเงินงบประมาณทั้งหมดในแต่ละปี

ในประเด็นดังกล่าว สื่อมวลชนบางสำนักได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับบำนาญ ตามที่ ส.ส. อภิปราย ความตอนหนึ่งว่า “…ในปัจจุบันผู้เคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ตั้งแต่ 2-3 ปี ได้รับบำเหน็จบำนาญร้อยละ 20 ของเงินเดือน …และจนท้ายสุดเป็น 20 ปีขึ้นไป ได้รับร้อยละ 70 ของเงินเดือน…”

ซึ่งข้อมูลตามที่ระบุนี้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก่อให้เกิดความสับสนในวงกว้าง ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการจึงไม่อาจนิ่งเฉย เพราะการให้องค์ความรู้ทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมาแก่สังคมคือพันธกิจสำคัญของวิชาชีพ

ข้อมูลอัตราเงินบำนาญที่ถูกกล่าวอ้างข้างต้น เป็นรายละเอียดในร่างบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชกฤษฎีกาบำเหน็จบำนาญ เสนอขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ช่วงสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นความพยายามในการผลักดันกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกต่อต้าน ขัดขวาง จากหลายภาคส่วน ที่ไม่อาจยอมรับความโลภโมโทสัน ความเห็นแก่ตัวของบุคคลที่อ้างว่าอาสามาทำงานรับใช้ประชาชน ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องล้มเลิกไป

อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวว่า ส.ส. ส.ว. เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ไม่เป็นภาระทางการคลังของประเทศก็คงจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากในปัจจุบันอดีตสมาชิกรัฐสภาได้รับเงินเลี้ยงชีพ ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ยุคที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำประเทศ

เหตุผลประกอบการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความตอนหนึ่งว่า “…เพื่อตอบแทนคุณงามความดีและความเสียสละแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกภาพได้สิ้นสุดลง จึงสมควรให้มีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา…”

โดยแต่ละเดือน ส.ส. ส.ว.มีหน้าที่สมทบเงินจำนวน 3,500 บาท นอกเหนือจากเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรรเข้าสู่กองทุนในทุก ๆ ปี รวมถึงแหล่งเงินส่วนอื่นตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด

สำหรับผลประโยชน์ที่อดีตสมาชิกรัฐสภาได้รับครอบคลุมสิทธิหลายประการ อาทิ การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน การศึกษาของบุตร รวมถึงเงินเลี้ยงชีพแต่ละเดือนในอัตรา 9,000-35,600 บาท ซึ่งแปรผันตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา

แท้ที่จริงยุคกรีกเริ่มต้น งานการเมืองคืองานอาสา เป็นการทำหน้าที่โดยไม่มีแม้ค่าตอบแทน อย่างไรก็ดี กองทุนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ยังอาจถือว่าพอรับได้ในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากเงินสมทบที่ ส.ส. ส.ว.ต้องจ่ายเข้ากองทุน ประกอบกับผลตอบแทนเมื่อหมดวาระในแต่ละเดือนที่ไม่สูงเกินไปนัก

เพราะการมีกฎหมายให้ผู้แทนปวงชนได้รับเงินเลี้ยงชีพภายหลังลงจากตำแหน่ง คือขวัญกำลังใจ เป็นแรงผลักดันให้คนดีคนเก่งคนกล้าที่อยากเข้าไปทำหน้าที่อย่างสุจริต มีหลักประกันในการดำรงชีพ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ

นอกจากนี้ การที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนในแต่ละปี ก็คงทำให้สมาชิกรัฐสภาได้ตระหนักถึงบุญคุณคนในแผ่นดิน โดยการประพฤติปฏิบัติตนให้มีคุณงามความดี มีความซื่อตรง มีความเสียสละ สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายการจัดตั้งกองทุน มิฉะนั้นแล้ว ส.ส. ส.ว.ก็จะเปรียบดั่งเชื้อโรคที่ทำให้ประเทศอ่อนแอ คือ ช้างป่วย เป็นภาระของประเทศชาติและประชาชน…ตลอดไป

สำหรับรายละเอียดกองทุนฯ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์รัฐสภา