เหตุผลที่ผู้หญิงยืนอยู่แนวหน้าของการประท้วงในฝรั่งเศส

เหตุผลที่ผู้หญิงยืนอยู่แนวหน้า
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

ประชาชนในฝรั่งเศสคัดค้านการปฏิรูประบบบำนาญ ขยายอายุเกษียณ และเพิ่มระยะเวลาการทำงานที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน มีการนัดประท้วงแผนปฏิรูปนี้กันเป็นระยะ ๆ มาหลายเดือน

แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ใช้อำนาจพิเศษบังคับใช้แผนนี้ โดยไม่ผ่านการลงมติของสภา

การนัดประท้วงส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างสันติ แต่รอบล่าสุดหลังจากที่มาครงใช้อำนาจพิเศษบังคับใช้กฎหมาย การประท้วงก็ยกระดับความรุนแรงขึ้นตามระดับความเดือดดาลของประชาชน

ที่น่าสนใจคือการประท้วงเรื่องนี้มีผู้หญิงอยู่ในแนวหน้าของขบวนประท้วง ต่างจากการประท้วงเรื่องอื่น ๆ ที่ผู้ชายจะตื่นตัวออกไปประท้วงมากกว่า

เหตุผลที่ผู้หญิงฝรั่งเศสมีอารมณ์ร่วมกับการประท้วงเรื่องนี้มากจนออกไปยืนอยู่แนวหน้าก็เพราะว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการแก้กฎหมายนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงฝรั่งเศสมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย เงินที่พวกเธอส่งเข้าระบบบำนาญก็น้อยกว่า ซึ่งหมายถึงการได้รับเงินบำนาญที่น้อยกว่าผู้ชายด้วย

อีกทั้งผู้หญิงยังถูกขัดจังหวะการทำงานและการส่งเงินเข้าระบบบำนาญด้วย ถ้าพวกเธอมีลูกแล้วต้องลางานเพื่อเลี้ยงลูก หรือบางคนต้องลาออกจากงานหลายปีก่อนจะกลับไปหางานทำใหม่ ดังนั้น การที่จะทำงานให้ครบตามเวลาที่กำหนดให้ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน ผู้หญิงก็จะต้องเกษียณช้ากว่าผู้ชายอยู่แล้ว เมื่อกฎหมายใหม่ปรับเพิ่มระยะเวลาการทำงานที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน จากเดิม 42 ปี เป็น 43 ปี ผู้หญิงยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก

Advertisment

ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) เมื่อปี 2019 ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของผู้หญิงในฝรั่งเศสต่ำกว่าผู้ชายอยู่ 22% และในระดับคนทำงานที่มีรายได้น้อย ช่องว่างยิ่งกว้างออกไปอีก โดยผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย 25% และเงินบำนาญที่ผู้หญิงจะได้รับยังต่ำกว่าผู้ชายมากถึง 40%

ข้อมูลจากรายงานของสภานโยบายเงินบำนาญ (Pension Policy Council) ของฝรั่งเศส ในปี 2019 ระบุว่า ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับเงินบำนาญต่อเดือน 967 ยูโร ขณะที่ผู้ชายได้รับ 1,617 ยูโร

Advertisment

ความไม่เท่าเทียมยังถูกเน้นย้ำอีก เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงต้องเลื่อนการเกษียณออกไปนานกว่าผู้ชายถึง 9 เดือน

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่ามีมาตรการหลายอย่างที่จะช่วยผู้หญิงมากขึ้น อย่างเช่นการเพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำเป็น 1,200 ยูโร ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงได้รับเงินบำนาญมากกว่าปัจจุบัน และขยับเข้าใกล้ผู้ชายมากขึ้น แต่ผู้หญิงฝรั่งเศสก็ไม่เชื่อมั่น

โซฟี บิเนต์ (Sophie Binet) เลขาธิการสหภาพแรงงานฝรั่งเศส (CGT) กล่าวว่า การเพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงบางคนเท่านั้น เพราะผู้หญิงกว่า 40% ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น

ความไม่พอใจในการปฏิรูประบบ และความไม่เชื่อมั่นในมาตรการที่รัฐบอก สะท้อนผ่านการสำรวจล่าสุดของ Elabe ที่พบว่า ผู้หญิงฝรั่งเศสต้านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญถึง 74% ขณะที่ผู้ชายต้านน้อยกว่าที่สัดส่วน 67%