6C สูตรสำเร็จ ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวไทย

กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การที่ผู้ประกอบธุรกิจครอบครัวมีความประสงค์ที่จะให้ธุรกิจครอบครัวมีความยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงคำสาปที่ว่า “ธุรกิจครอบครัวจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วคน” นั้น มีประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาหลายเรื่อง

ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวต้องล่มสลาย หรือไม่สามารถเติบโตจากรุ่นสู่รุ่นได้ อาจจะสรุปได้เป็น “สูตรสำเร็จ 6C” ที่ผมคิดว่าจะเป็นหลักสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวสามารถยึดไว้เป็นแนวทางการควบคุมการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวไทยเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน

6C สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย ประกอบด้วย

1.C ตัวแรก คือ corporate structure (โครงสร้างบริษัทและการถือหุ้น)

หมายถึงการจัดโครงสร้างของบริษัทธุรกิจครอบครัวว่า ควรจะมีโครงสร้างเช่นไร และโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวควรจะเป็นอย่างไร

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การจัดโครงสร้างของธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และโครงสร้างที่ดีที่สุดคือ การจัดให้มีลักษณะเป็น “บริษัทโฮลดิ้ง” หรือ “บริษัทกงสี” เพื่อลดความเสี่ยงทางกฎหมายให้น้อยที่สุด

โดยต้องมีเอกสารทางกฎหมายระบุไว้ในข้อบังคับของบริษัท สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น การจัดองค์ประกอบของคณะกรรมการ การประชุมผู้ถือหุ้นจะต้องมีการกำหนดว่า เรื่องใดที่จะต้องมีการตัดสินโดยผ่านคณะกรรมการหรือผู้ถือหุ้น

เพราะหากไม่มีการจัดโครงสร้าง และไม่บริหารความเสี่ยงทางกฎหมายที่ดีแล้ว ก็ย่อมจะทำให้ธุรกิจครอบครัวล่มสลายได้ เช่น หากธุรกิจครอบครัวไม่สามารถแยกธุรกิจออกไปเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เมื่อธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเกิดความเสียหายขึ้น ก็อาจจะทำให้ธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้นประสบกับภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว หรือล้มละลายก็ได้

ปรากฏการณ์นี้ได้เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจไทยมาหลายรุ่นแล้ว โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ท่านผู้อ่านลองไปดูอีกครั้งว่า ธุรกิจครอบครัวของตระกูลใหญ่ ๆ ของไทยหลายตระกูลนั้นได้ล่มสลายไป ก็เพราะว่าไม่มีการจัดโครงสร้างบริษัทที่ดี การถือหุ้น และวิธีการก่อหนี้ หรือการประกอบธุรกิจก็ขาดความชัดเจน และไม่มีการบริหารความเสี่ยงทั้งทางการเงินและกฎหมายต่าง ๆ

ในต่างประเทศมักจะพูดถึงเรื่องธุรกิจครอบครัวว่า Structure is a friend. คือ “โครงสร้างที่ดีคือมิตร” ฉะนั้น เจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจและใส่ใจกับโครงสร้างของบริษัทธุรกิจครอบครัวและการถือหุ้นให้มาก เพราะจะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจ

2. C ที่สองคือ compensation (ผลประโยชน์ ค่าตอบแทน)

ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนของสมาชิกในครอบครัวนั้น รวมถึงผลประโยชน์ที่จัดสรรความเป็นเจ้าของของการถือหุ้น โดยความยินยอมพร้อมใจของสมาชิกในครอบครัวซึ่งจะต้องมีความยุติธรรมและเป็นธรรม

สิ่งที่สำคัญมากก็คือ “ความยุติธรรม” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเท่าเทียมกัน

การจัดสรรการถือหุ้น ผลประโยชน์ตอบแทน ค่าตอบแทนสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ทำงาน หรือนโยบายการจ่ายเงินปันผล จากการประกอบธุรกิจของธุรกิจครอบครัว เป็นเรื่องที่จะต้องมีนโยบายเป็นเอกสารชัดเจน ในการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความขัดแย้งกัน เนื่องจากไม่มีกฎกติกาเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ รวมทั้งการสื่อสารว่ามีหลักเกณฑ์ข้อใดในการจัดสรรผลประโยชน์ของความเป็นเจ้าของ

การกำหนดกฎเกณฑ์เอกสารต่าง ๆ อาจกระทำโดยข้อบังคับของบริษัท สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น หรือธรรมนูญครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน การจ่ายเงินปันผล หรือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแนวทางการที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวขจัดความขัดแย้งกันได้ เพราะเรื่องผลประโยชน์ย่อมไม่เข้าใครออกใคร ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการจัดสรรค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์ให้อย่างเป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับได้ของสมาชิกในครอบครัว

3. C ที่สามคือ communication (การสื่อสาร)

จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคโดย PricewaterhouseCoopers ปรากฏว่าปัญหาของธุรกิจครอบครัวปัญหาใหญ่คือ การขาดการสื่อสารกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการพูดคุยปรึกษาหารือ หรือการขอความเห็น การขอความเห็นชอบในการประชุมร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าเรื่องที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ การสื่อสารระหว่างกันของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการประชุมกรรมการผู้ถือหุ้น สภาครอบครัว หรือการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของสมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่การคุยกันบนโต๊ะร่วมรับประทานอาหาร

สมาชิกในครอบครัวควรสื่อสารกันในเรื่องแนวทางการประกอบธุรกิจ การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ การสื่อสาร การให้ความรู้ การอบรมแก่สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งกระบวนการถ่ายโอนอำนาจของธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น และการสื่อสารถึงเหตุผลในการจัดสรรผลประโยชน์ว่ายุติธรรมและเหมาะสมเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในกรณีของกระบวนการถ่ายโอนอำนาจ และการเลือกผู้นำธุรกิจครอบครัวที่สืบต่อธุรกิจนั้น วิธีการที่จะสื่อสารหรือคุยกันในบริษัทของสมาชิกในครอบครัวก็อาจจะเป็นการตกลงผ่านเอกสารทางกฎหมาย โดยเป็นข้อบังคับ สัญญาผู้ถือหุ้น หรือธรรมนูญครอบครัว ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ที่สำคัญคือต้องมีศิลปะในการรับฟังเป็นอย่างดี การสื่อสารไม่ใช่เป็นการสั่ง แต่ต้องเป็นการฟังและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

4. C ที่สี่คือ conflict resolution (กระบวนการการระงับข้อพิพาท)

ข้อนี้หมายถึง กระบวนการการระงับข้อพิพาท หรือข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว แน่นอนถึงแม้ว่าจะมีการจัดโครงสร้างที่ดี มีการจัดโครงสร้างค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีการสื่อสารครบถ้วนก็ตาม ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมีความเห็นขัดแย้งกันในการทำธุรกิจหรือเรื่องส่วนตัว

กระบวนการระงับข้อพิพาท หรือ conflict resolution ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ควรมีกำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม การคุยกัน หรือการที่จะให้การระงับข้อพิพาทนั้นอยู่ในแวดวงของสมาชิกในครอบครัว ก่อนจะนำข้อพิพาทไปสู่บุคคลภายนอก

เพราะในระหว่างสมาชิกในครอบครัว มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สัมพันธ์ส่วนบุคคลในการคุยกัน หรือใช้บุคคลที่สามที่ได้รับการเคารพนับถือของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งแตกต่างกับข้อพิพาททางธุรกิจโดยทั่วไป เช่น ถ้าหากจะต้องมีการซื้อขายหุ้นกัน การกำหนดราคาจะต้องถือเป็นราคาที่มากกว่าราคาโดยทั่วไป เช่น ราคาบัญชี หรือราคาผู้ประเมินอิสระ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า บวกกับกำไร (premium) เป็นร้อยละเท่าไรของราคาที่กำหนด

เพราะการซื้อขายหรือการขายหุ้นกันในสภาครอบครัว หรือระหว่างสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นการให้เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนกับสมาชิกในครอบครัว จะใช้หลักธุรกิจมาเกี่ยวข้องไม่ได้ โดยในบางกรณีอาจรวมถึงการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินบางอย่างระหว่างกันก็ได้

ถ้าหากธุรกิจครอบครัวนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โอกาสที่การระงับข้อพิพาท หรือการขายหุ้นของสมาชิกในครอบครัว ก็ย่อมสามารถกระทำได้ เนื่องจากมีราคาตลาด แต่ถึงกระนั้นก็ดี การซื้อราคาแพงกว่าราคาตลาดก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งมีสัญญาให้มีการขายให้สมาชิกในครอบครัวก่อนขายให้บุคคลภายนอก

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดวิธีการ แนวทาง และความเข้าใจของสมาชิกในครอบครัวว่า ก่อนที่จะนำเรื่องข้อพิพาทไปสู่กระบวนการทางกฎหมายนั้น สมาชิกในธุรกิจครอบครัวจะต้องตระหนักถึงผลเสีย ชื่อเสียง ความรัก และความเข้าใจในครอบครัวเป็นสำคัญ

5. C ที่ 5 คือ care and compassion (ความเอื้ออาทรและความกรุณา)

ข้อนี้คือความเอื้ออาทรและความกรุณา ความเห็นใจระหว่างทายาทในครอบครัวกันเองและรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders) ตลอดจนส่วนรวม

ความตั้งใจที่จะให้ธุรกิจครอบครัวมีความเจริญเติบโตได้นั้น ถ้าหากว่าสมาชิกในครอบครัวมีความเอื้ออาทร ความเห็นใจ มีความปรารถนาดีซึ่งกันและกันแล้ว และคิดถึงประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสังคมโดยรวม ประเด็น 4 ข้อข้างต้นก็จะเป็นประเด็นรองทันที เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุใดขึ้น ความเอื้ออาทรและความเห็นใจจะทำให้สมาชิกในครอบครัวต่างช่วยเหลือกัน เพื่อสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนโดยตัดประโยชน์ส่วนตนออกไป ปัญหาเรื่องข้อพิพาทก็จะไม่เกิดขึ้น และยังนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

จากประสบการณ์ในการทำงานและการศึกษาของผมที่ผ่านมา ผมคิดว่า C ข้อนี้เป็น C ที่มีความสำคัญ เพราะ C 4 ตัวที่ผมได้กล่าวมานั้น ถึงแม้ว่าปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง หากมีความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจของทั้งสมาชิกในครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง (ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง คู่ค้า สังคม) และประโยชน์ส่วนรวมแล้ว และการเปลี่ยนแปลงเรื่อง ESG ที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องมีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ก็จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเจริญจากรุ่นสู่รุ่นเป็นไปตามความประสงค์ของธุรกิจครอบครัว

6. C ที่ 6 คือ change (ความเปลี่ยนแปลง)

จากประสบการณ์การทำงานในประเด็นเรื่องธุรกิจครอบครัว และบรรยายในการสัมมนาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมได้พบอีกว่า มี C ตัวที่ 6 ที่น่าจะมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวไทย โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์และสภาวะการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม อันจะทำให้ธุรกิจครอบครัวจะต้องปรับตัวในการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืนและรวดเร็วต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญกับธุรกิจครอบครัวไทยแยกได้เป็น 2 ปัจจัยคือ (1) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว กับ 2) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายในที่ขึ้นอยู่กับเจ้าของธุรกิจครอบครัว ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวไทย

อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินงานจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างจริงจัง โดยเปลี่ยนจากการคิด การพูด เป็นการลงมือกระทำเลย คือไม่ใช่ “NATO” แต่เป็น “AFTA” คือต้องเปลี่ยนวิธีการต่างจากเดิมที่เป็น “no action, talk only” เป็น “action first, talk after” จากประสบการณ์ของผม ในการที่จะไปให้การอบรมกับสมาชิกของธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นของหลักสูตรต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกในครอบครัว หรือเจ้าของธุรกิจครอบครัวมักจะมีความตื่นตัวในตอนที่ฟังคือ คิดและพูด แต่ไม่ทำ

แต่พอหลังจากการสัมมนา ก็มักจะมีเหตุอื่นที่จะอยู่เหนือความสำคัญในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการของธุรกิจครอบครัว

ความเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าเจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงก็คือ ความคิดที่จะต้องดำเนินการโดยทันทีเมื่อพบว่าความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงแล้ว