ต่อยอดมรดกโลก “ศรีเทพ”

เมืองโบราณศรีเทพ
เมืองโบราณศรีเทพ
บทบรรณาธิการ

องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

โดยเมืองโบราณศรีเทพในอดีตถูกทอดทิ้งให้อยู่ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีเทพกับเมืองวิเชียรบุรี จนกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ เดินทางเข้าไปค้นหาจนพบในปี 2447

ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี 2478 ตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในปี 2527มีการดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ จนทราบว่า พื้นที่บริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ถูกใช้ทำกิจกรรมมาตั้งแต่ปลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาสมัยประวัติศาสตร์ เข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดีจนกระทั่งถึงขอม อยุธยา และถูกทิ้งร้างไป

มาในปี 2562 UNESCO ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ อยู่ในรายชื่อบัญชีมรดกโลกเบื้องต้น จน 4 ปีต่อมาจึงถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในที่สุด สำหรับสาเหตุที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลก ก็เพราะเมืองโบราณศรีเทพมีคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล

กล่าวคือ เป็นเมืองสำคัญสมัยทวารวดีอายุกว่า 1,000 ปี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการสำคัญทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวมรดกโลกมีพื้นที่ประมาณ 5,415 ไร่ ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่งที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิมภายใต้คุณค่าตามเกณฑ์ของ UNESCO

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ความสำเร็จของประเทศไทยในครั้งนี้ ได้ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลในอดีต จึงควรที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องนำความสำเร็จในการเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม มาต่อยอดด้วยการให้ชุมชนเจ้าของพื้นที่รอบ ๆ เมืองมรดกโลกได้มีส่วนร่วม

การทำความเข้าใจ-สร้างความร่วมมือร่วมกันพัฒนาสินค้า-บริการ สถานที่ท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวให้มากกว่าการที่จะเดินทางมาเยี่ยมชมเมืองศรีเทพแต่เพียงอย่างเดียว โดยอาจจะดำเนินการผ่านทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้ขับเคลื่อนเป็นกรณีตัวอย่าง ให้สมกับที่เมืองโบราณศรีเทพเป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้วตามเกณฑ์ของ UNESCO นั่นเอง